posttoday

อาจารย์จุฬาฯชี้กล่องโฟมไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

09 มิถุนายน 2559

ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กระบุกล่องโฟมไม่ได้เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างที่หลายคนเข้าใจ

ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กระบุกล่องโฟมบรรจุอาหารไม่ได้เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างที่หลายคนเข้าใจ

หลังจากก่อนหน้านี้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ออกมาให้ข้อมูลว่ากล่องโฟมบรรจุอาหารมีสารก่อมะเร็งและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ระบุว่า กล่องโฟมไม่ได้เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างที่หลายคนเข้าใจ

ดร.เจษฎา อธิบายว่า กล่องโฟมหรือภาชนะโฟมที่เราใช้กันนั้น เรียกว่า "โพลีสไตรีน" ซึ่่งเป็นโพลีเมอร์ของสารสไตรนโมโนเมอร์มาเรียงต่อกัน สำหรับสารสไตรีนโมโนเมอร์เดี่ยวๆถ้าร่างกายได้รับเข้าไปจะเป็นอันตราย แต่เมื่อมันมาจับกันเป็นโพลีสไตรีนแบบกล่องโฟมแล้วจะมีความเสถียรสูงมาก มีคุณสมบัติทนทาน เบา เอามาเป่าขึ้นรูปง่าย ทนกรดทนด่างได้ดี ทนความร้อ ไม่ละลาย แต่อาจจะบิดเสียรูปทรงไป จึงเป็นที่นิยมใช้กันทั่วโลก และได้รับการรับรองว่าปลอดภัยจากองค์กรทางอาหารทั่วโลก

"ถ้าจะห่วงเรื่องว่ากล่องโฟมมันจะมีสารสไตรีน มันก็อาจมีได้บ้างเฉพาะที่หลงเหลือมากับการผลิต ซึ่งตามมาตรฐานการผลิตแล้วเค้าก็ควบคุมกันให้มีน้อยมากจนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนที่กลัวว่าเวลาใช้ๆไป จะมีสารสไตรีนออกมามั้ย มีงานวิจัยว่าถ้าเอาโฟมโพลีสไตรีนไปทำแก้วใส่น้ำร้อนๆก็จะมีสิทธิ์ที่จะทำลายพันธะทางเคมีให้สารสไตรีนโมโนเมอร์ออกมาได้ แต่พบว่าน้อยมาก เพียงแค่ประมาณ 1 ในพันเท่าของเกณฑ์ที่กำหนดเท่านั้น บางคนบอกว่า เวลากล่องโฟมโดนน้ำมัน อย่างพวกน้ำมันปลา หรือแม้แต่หยดน้ำกลิ่นแมงดาสังเคราะห์ เห็นมันละลาย  คือถูกแล้ว มันคือการละลายเข้าหากันของตัวโพลีสไตรีนเข้าไปอยู่ในกรดไขมันหรือเอสเทอร์พวกนั้น แต่ไม่ใช่การสลายพันธะเพื่อให้เกิดสไตรีนโมโนเมอร์อันตรายขึ้น สุดท้ายผมงงๆ ว่าเค้าเอาข้อมูลจากไหนมาบอกว่ากินทุกวัน 10 ปี จะเสี่ยงเป็นมะเร็งขึ้น 6 เท่า ผมหาที่มาอ้างอิงของเค้าไม่ได้ ยกเว้นแต่ที่อ้างชื่อคุณหมอท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าท่านขายกล่องอาหารชานอ้อย อย่างนี้ก็เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน ทำให้ความน่าเชื่อถือน้อยลง"

อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯรายนี้ กล่าวว่า หวังว่ากระทรวงสาธารณสุขคงจะไม่ประกาศห้ามใช้กล่องโฟมขึ้นมาจริงๆ เพราะจะทำให้ธุรกิจเกี่ยวกับกล่องโฟมต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

ที่มาจากเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/jessada.denduangboripant/posts/802701586527144?pnref=story