posttoday

ตำรวจไทยหักเหลี่ยมโจรอินเตอร์

10 สิงหาคม 2553

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศไทยมีปัญหา “อาชญากรรม” หนักหนาสาหัสไม่ต่างกับเมืองใหญ่ในโลกที่ต้องผจญวัฏจักรนี้เช่นกัน แต่แนวโน้มอาชญากรรมในภูมิภาคอาเซียนกำลังเปลี่ยนไปและมีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติ ที่อาละวาดไปทั่วภูมิภาคและมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับขบวนการก่อการร้าย กลายเป็นภัยคุกคามสำคัญที่วงการตำรวจไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือ และรู้เท่าทันสารพัดโจรที่มีเล่ห์กลซับซ้อนขึ้นทุกลมหายใจ!

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศไทยมีปัญหา “อาชญากรรม” หนักหนาสาหัสไม่ต่างกับเมืองใหญ่ในโลกที่ต้องผจญวัฏจักรนี้เช่นกัน แต่แนวโน้มอาชญากรรมในภูมิภาคอาเซียนกำลังเปลี่ยนไปและมีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติ ที่อาละวาดไปทั่วภูมิภาคและมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับขบวนการก่อการร้าย กลายเป็นภัยคุกคามสำคัญที่วงการตำรวจไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือ และรู้เท่าทันสารพัดโจรที่มีเล่ห์กลซับซ้อนขึ้นทุกลมหายใจ!

โดย....อิทธิกร เถกิงมหาโชค

 

ตำรวจไทยหักเหลี่ยมโจรอินเตอร์

ข้อมูลสำคัญที่กลุ่มเจ้าหน้าที่สอบสวนกลางสหรัฐ หรือ เอฟบีไอ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในวงประชุม FBI National Academy Associates Asia Pacific Chapter Retraining ที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ชี้ชัดว่า ไทยและภูมิภาคอาเซียนกำลังเผชิญหน้ากับกลุ่มอาชญากรรม “คอปกขาว” และขบวนการก่อการร้ายเจมาห์ อิสลามิยาห์ หรือ เจไอ กับกลุ่มอัลกออิดะห์ ซึ่งเอฟบีไอเชื่อว่าผู้ก่อการร้ายทั้งสองกลุ่มอยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีหลายครั้งที่เกิดขึ้นในอาเซียน รวมถึงเหตุระเบิดแหล่งท่องเที่ยวบนเกาะบาหลีเมื่อปี 2545 และเหตุการณ์ ก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

พล.ต.ต.ปรีชา ธิมามนตรี ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล (ผบก.ส.2) ซึ่งร่วมคณะเข้าประชุมครั้งนี้ด้วย บอกว่า อาชญากรรมในศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่เรื่องลัก วิ่ง ชิง ปล้น อีกต่อไป แต่จะมีความเชื่อมโยงกับอาชญากรรมประเภทอื่นๆ เช่น ขบวนการค้ายาเสพติด การค้าประเวณีซึ่งแนวโน้มการค้ายาเสพติดแอฟริกาตะวันตกเป็นแหล่งขนถ่ายยาเสพติดทางเรือกระจายไปในภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะโคเคนที่มีแหล่งผลิตในอเมริกาใต้

ในภูมิภาคอาเซียนคือ “ขุมทอง” ของแก๊งโจรนานาชาติ เนื่องจากมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้การก่ออาชญากรรมเกิดขึ้นอย่างไร้พรมแดน ผู้กระทำผิดอีกประเทศหนึ่ง ส่วนผู้เสียหายอยู่คนประเทศ สะท้อนให้เห็นว่ามีการฉ้อโกงผ่านทางเครือข่ายเทคโนโลยีคือ “โจรออนไลน์” ชุกชุมยิ่งขึ้น

พล.ต.ต.ปรีชา อธิบายว่า ปัจจุบันโจรข้ามชาติมีการเข้ามาเคลื่อนไหวในไทยจำนวนมาก มีทั้งขบวนการปลอมแปลงหนังสือเดินทาง ซึ่งจะไม่นิยมใช้หนังสือเดินทางปลอม แต่จะหันมาใช้หนังสือเดินทางจริง แต่อาศัยคนที่มีใบหน้าเหมือนมาใช้หนังสือเดินทางนั้น จึงทำให้การจับกุมเป็นไปด้วยความยากลำบาก ประเด็นที่น่าสนใจอีกเรื่อง คือ เล่ห์เหลี่ยมของโจรไฮเทคที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย อาศัยความน่าเชื่อถือหลอกลวงเหยื่อ คดีที่เกิดขึ้นในต่างประเทศและระบาดมาถึงเมืองไทยสักพักใหญ่แล้ว คือ การหลอกลวงเหยื่อทางโทรศัพท์ให้โอนเงินผ่านระบบเอทีเอ็มเข้าบัญชีที่เปิดไว้ หรือที่เรียกกันฮิตติดปากขณะนี้ว่า แก๊งคอลเซ็นเตอร์ นั้นเอง ข้อมูลจากหน่วยสืบสวนอาชญากรรม ตำรวจไต้หวันได้พบเครือข่ายกลุ่มมิจฉาชีพทางอินเทอร์เน็ตและทางโทรศัพท์ในย่านเอเชีย มีแหล่งใหญ่อยู่ในประเทศจีนและไต้หวัน มีเหยื่อถูกหลอกลวงนับล้านคน แถมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 20% จากปี 2551 คิดความสูญเสียเป็นวงเงินไม่น้อยกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ (3,400 ล้านบาท) มุขดั้งเดิมที่ใช้ คือ หลอกเงินคืนภาษีทางโทรศัพท์เมื่อช่วงปลายปี 2551 และพบว่ามีพฤติกรรมหลอกลวงใน 7 ประเทศย่านเอเชีย ประกอบด้วย เกาหลีใต้ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และมาเก๊า แนวโน้มต่อไปจะเปลี่ยนมุขเปลี่ยนสถานการณ์หลอกลวงไปเรื่อยๆ เช่น หลอกว่าถูกรางวัล หลอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบแก๊งฟอกเงิน แล้วแต่ความอ่อนไหวของข่าวสารช่วงนั้นจะเอื้ออำนวย ขณะที่การหลอกลวงซื้อขายสินค้าทางอินเทอร์เน็ตกำลังขยายตัว เรียกว่า ตุ๋นง่ายจ่ายสบายมือว่างั้น ทำเป็นขบวนการใหญ่แบ่งหน้าที่กันทำ มีหัวหน้าใหญ่ทำหน้าที่สั่งงาน มีทีมผู้ค้า ทีมทำหน้าที่โทรศัพท์ ทีมตัวแทนขาย และทีมฝ่ายเทคนิควิธีการหลอกลวงมาในรูปของข้อความผ่านอีเมล ข้อความเสียง หรือตัวบุคคลที่เรียกว่า “หน้าม้า” โดยผ่านทางโทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์ไร้สาย หรือระบบอินเทอร์เน็ตทางเว็บไซต์ต่างๆ พฤติกรรมของแก๊งพวกนี้อยู่ในการติดตามของตำรวจไทยแล้ว หน้างานหลัก คือ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ที่มี พล.ต.ต.ปัญญา มาเม่น รอง ผบช.ก. เป็นหัวหอกจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเตือนภัยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ชนิดทันควัน

พล.ต.ต.ปรีชา บอกว่า รูปแบบใหม่ๆ ที่ได้ข้อมูลจากการประชุมเอฟบีไอภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกครั้งนี้ ก็คือ ในยุคอีคอมเมิร์ซแบบนี้จะมีแก๊งหลอกลวงทางการเงินมากขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจการเดินเรือ มีการพบแล้วว่ามีกลุ่มมิจฉาชีพซึ่งอ้างตัวเป็นเจ้าของบริษัทเดินเรือ หรือบริษัทชิปปิง มารับสินค้าที่ส่งผ่านเรือเดินสมุทร มิจฉาชีพกลุ่มนี้แต่งตัวดี พูดจาสุภาพน่าเชื่อถือ และใช้เอกสารปลอมได้อย่างแนบเนียน ในการเจรจาหรือผ่านพิธีการทางศุลกากรจากท่าเรือเพื่อนำสินค้าออกไป ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นหลักร้อยล้านหรือพันล้านทีเดียว เพราะสินค้าไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออาหาร ถูกยักยอกออกไปเป็นตู้คอนเทนเนอร์หรือล็อตใหญ่มากเป็นพันล้านบาท มูลค่าความเสียหายจึงสูงจนผู้เสียหายแทบฆ่าตัวตาย ซึ่งเอฟบีไอกำลังสืบสวนต้นตอขบวนการนี้อยู่ แนวโน้มอาชญากรรมทางทะเลยังไม่หยุดแค่แก๊งผู้ดีที่ลักไก่มารับสินค้าทางเรือเท่านั้น แต่คดีโจรสลัดก็ยังไม่มีทางออกเช่นกัน

ข้อมูลเอฟบีไอ ระบุว่า แนวโน้มได้เปลี่ยนจากกลุ่มโจรสลัดขบวนการ “อาเจะห์เสรี” ของอินโดนีเซีย ที่ใช้เรือประมงดัดแปลงสภาพและอาวุธสงครามเข้าปล้นเรือที่ผ่านไปมาแถบทะเลอันดามันเขตน่านน้ำไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย กลายเป็นกลุ่มกบฏโซมาเลีย ออกปล้นเรือแถบอ่าวเอเดนและชายฝั่งตะวันออกของโซมาเลีย และขยายวงไปถึงพื้นที่ทางตอนใต้ของทะเลแดง ช่องแคบบาบ เอล มันดาบ และชายฝั่งตะวันออกของโอมาน และจับลูกเรือเพื่อเรียกค่าไถ่อีกด้วย ทำให้แต่ละชาติในอาเซียนต้องเฝ้าระวังในน่านน้ำให้เข้มงวดยิ่งขึ้น

พล.ต.ต.ปรีชา เล่าว่า สิ่งที่น่าจะนำมาปรับใช้ได้ในเมืองไทย คือ ความสำเร็จระหว่างการประสานของเจ้าหน้าที่เอฟบีไอกับตำรวจอินเดีย ในการสืบสวนติดตามจับกุมคนร้ายที่ร่วมลงมือในเหตุระเบิดครั้งใหญ่ที่นครมุมไบ เมื่อปี 2551 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตถึง 166 คน โดยใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์ชั้นสูงในการวิเคราะห์รูปแบบการประกอบระเบิด และตรวจหลักฐานระเบิดอย่างละเอียด จนนำไปสู่การจำแนกกลุ่มผู้ก่อเหตุ และสืบสวนติดตามจับกุมคนร้ายได้ในที่สุด

“การสืบสวนคดีระเบิดในเมืองไทยขณะนี้ ถือว่านับหนึ่งและกำลังพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหลักสืบสวนขยายผลต้องใช้การประสานกับทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด (อีโอดี) หรือกองพิสูจน์หลักฐาน (พฐ.) ที่ต้องใช้ความละเอียดในการหาหลักฐาน เพื่อส่งต่อไปวิเคราะห์หารูปแบบการประกอบระเบิด หลังจากนั้นทางตำรวจนครบาล กองปราบปราม และสันติบาล ก็เป็นทีมสืบสวนหาข่าวและติดตามจับกุมกลุ่มผู้ก่อเหตุ” ผบก.ส.2 ฉายภาพการทำงานร่วมกันในการคลี่คลายคดีระเบิดที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

ทั้งหมดคือความพยายามยกระดับแนวคิดและข้อมูลข่าวสารอาชญากรรมร่วมกันของตำรวจอาเซียนในยุคโจรไร้พรมแดน ที่ต้องช่วยกันสกัดกั้นถึงที่สุด!