posttoday

"ไพบูลย์"ปัดใช้ม.44จัดการคดี"ธัมมชโย"ชงมส.ช่วย

27 พฤษภาคม 2559

รมว.ยธ.เผยดีเอสไอใช้ 5 แผนรวบ"ธัมมชโย" ปัดใช้ม.44ดำเนินการ สั่งทำหนังสือส่งมส.-ฝ่ายปกครองคณะสงฆ์ทุกระดับหนุนจนท.ทำงาน ยันทำคดีตามขั้นตอนไม่2มาตรฐาน

รมว.ยธ.เผยดีเอสไอใช้ 5 แผนรวบ"ธัมมชโย" ปัดใช้ม.44ดำเนินการ สั่งทำหนังสือส่งมส.-ฝ่ายปกครองคณะสงฆ์ทุกระดับหนุนจนท.ทำงาน ยันทำคดีตามขั้นตอนไม่2มาตรฐาน

วันที่ 27 พ.ค. ที่กระทรวงยุติธรรม พล.อ.ไพบูลย์  คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกล่าวถึงการดำเนินการตามหมายจับกับพระธัมมชโย  เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ว่า  หลังการประชุมคณะพนักงานสอบสวนดีเอสไอพ.ต.อ.ไพสิฐ  วงศ์เมือง  อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ได้รายงานว่ามีการกำหนดมาตรการตามแผนดังนี้ 1. การทำแผนตามหมายจับ  2. ได้มอบหมายจับให้กับตำรวจและฝ่ายปกครอง หากพบตัวสามารถเข้าจับกุมได้ทันที   ถือเป็นการขยายอำนาจหน้าที่ให้ดำเนินการ 3. ทำหนังสือถึงฝ่ายปกครองคณะสงฆ์ทุกระดับตั้งแต่มหาเถรสมาคม(มส.)  เพราะสงฆ์มีขั้นตอนตามพ.ร.บ.สงฆ์ในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชา  โดยให้ชี้แจงถึงกระบวนการทำงานและเหตุที่มีการตั้งข้อกล่าวหา  4. ใช้ป.วิอาญา 189 เรื่องการให้ที่พักพิงหรือช่วยเหลือก็จะถูกดำเนินคดี  และ 5. เร่งรัดการดำเนินคดีให้เสร็จโดยเร็วที่สุด คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2-3 สัปดาห์

"การดำเนินการจะใช้กฎหมายปกติ  ไม่มีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 หรือใช้กำลังเข้าปฏิบัติการ เพราะนายกรัฐมนตรีได้แสดงความเห็นห่วง  และกำชับให้ทำเหมือนคดีปกติ  อย่าให้ขยายเป็นประเด็นอื่น  หรือทำให้เกิดเหตุร้ายแรงขึ้นเพราะอาจบานปลายไม่คุ้มที่จะเสี่ยง หากมีการขัดขวาง เกิดเหตุอันตรายเกินควบคุม"พล.อ.ไพบูลย์กล่าว

รมว.ยุติธรรม กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องหมายค้น  ต้องมีหลักฐานไปแสดงต่อศาลถึงแหล่งที่อยู่ที่ชัดเจน เพื่อให้ศาลเป็นผู้อนุมัติ   แต่ย้ำว่าเป็นขั้นตอนตามแผน  แต่จะยื่นขอศาลเมื่อไหร่พนักงานสอบสวนจะเป็นผู้พิจารณา ทั้งนี้ ยืนยันว่าการเข้าจับกุมต้องมีหมายค้นก่อน   ขณะเดียวกันในวันนี้( 27 พ.ค.) ได้สั่งการให้อธิบดีดีเอสไอทำหนังสือถึงมส. ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของสงฆ์  เพื่อหารือว่าควรเข้ามาช่วยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างไรบ้าง  พร้อมแจ้งว่าขณะนี้ได้เกิดอะไรขึ้นกับองค์กรสงฆ์บ้าง  เชื่อว่ามส.จะไม่นิ่งเฉย   สำหรับกรณีการให้ที่พักพิงหรือช่วยเหลือผู้ต้องหานั้น  พนักงานสอบสวนจะเป็นผู้พิจารณาว่าบุคคลใดเข้าข่ายกระทำผิดบ้าง

เมื่อถามถึงภาพที่มีการนำรถแบคโฮมาปิดประตูวัดนั้น   รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า  เรื่องดังกล่าวถือเป็นสิ่งบอกเหตุว่ามีพฤติกรรมส่อไปถึงอะไร สังคมต้องเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจ  รวมถึงกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการแสดงอิทธิพลหรือไม่  ขอย้ำว่าเจ้าหน้าที่ทำตามกฎหมายมาตลอด แต่กฎหมายก็มีขั้นตอนเพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน  เจ้าหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวัง หากทำสิ่งใดเร็วเกินไปก็จะกลายเป็นการสร้างปัญหา  หลายเหตุการณ์การกระทำของเจ้าหน้าที่  กลายเป็นการสร้างเงื่อนไข  การกำหนดเหตุการณ์บ้างครั้งไม่ได้ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่รัฐเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับบุคคลที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมด้วย เจ้าหน้าที่มีพัฒนาการไปทีละขั้น เริ่มต้นจากการให้ความเป็นธรรม ให้เวลาดำเนินการแบบยืดหยุ่นผสมผสาน แต่ไม่สามารถบังคับองค์กรสงฆ์ได้

 “เราให้ความร่วมมือตามที่ถูกร้องขอ คนที่มาติดต่อคือทนาย  วานนี้ก็เป็นการทำตามที่ร้องขอ แต่ก็มีการบิดพลิ้ว ซึ่งไม่ได้เกิดจากเจ้าหน้าที่  เราไม่สามารถไปทราบวิธีคิดของผู้ต้องหา  เหมือนการจับผู้ร้ายมันก็ไม่รอให้จับ  เพราะมีมือ มีตีน ถึงเวลาก็วิ่งหนี  เราพยายามทำให้เหมือนผู้ต้องหาปกติ  แต่อาจเขาอาจมีศักยภาพบางอย่าง  หากจับไม่ได้ก็ต้องชี้แจงให้สังคมเข้าใจ เพราะทุกคนไม่อยากให้เกิดเหตุปะทะวุ่นวาย"พล.อ.ไพบูลย์กล่าว

เมื่อถามถึงวิธีการชี้แจงให้มวลชนสนับสนุนเข้าใจถึงการดำเนินคดี  รมว.ยุติธรรม  กล่าวว่า  ตนได้สื่อสารไปแล้วหลายครั้งว่าหากต้องการเข้ารับฟังข้อเท็จจริงขอให้จัดผู้แทนเข้าพบกับพนักงานสอบสวน เพราะคดีดังกล่าวมีความซับซ้อน กระทำผิดต่างกรรมต่างวาระ ทำให้เกิดความเข้าใจไม่ตรงกัน  แต่ก็ไม่เคยมีใครมาขอพบเลย  คนที่รู้ดีที่สุดคือทนายความเพราะมาบ่อยก็ไม่เข้าใจว่าทนายได้ไปชี้แจงบ้างหรือไม่ ขณะนี้จึงไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงในจุดใดเป็นประเด็นให้ไม่เข้าใจ ยืนยันไม่อยากให้เกิดปัญหา แต่การไม่มาพบเพื่อรับฟังเหตุผลก็เป็นเหตุให้เข้าใจได้ว่าเป็นการตั้งท่าไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่

เมื่อถามว่าหากไม่ได้ตัวผู้ต้องหาจะสามารถสั่งฟ้องได้หรือไม่  รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า  ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของอัยการและศาล เบื้องต้นได้กำชับให้เร่งรัดการสรุปสำนวนไปให้อัยการพิจารณาภายใน 2-3 สัปดาห์ ขอชี้แจงอีกครั้งว่าระบบกระบวนการยุติธรรมต้องมีการต่อสู้กันหลายชั้น ขณะนี้เป็นเพียงชั้นที่ 1 ซึ่งพนักงานสอบสวนมีความเห็นว่าผิด หลังจากนี้ยังต้องให้อัยการและศาลพิจารณา  ส่วนการจับกุมตัว  เจ้าหน้าที่บังคับให้มาพบพนักงานสอบสวนก็ไม่มา  จะไปจับก็ไม่ได้  พนักงานสอบสวนไม่ได้ทำอะไรผิดขั้นตอน  หรือทำให้เกิดสองมาตรฐาน เอื้อประโยชน์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่สร้างเงื่อนไขให้กระบวนยุติธรรมเบี่ยงเบน 

"เรื่องนี้ต้องถามกลับไปยังสังคมว่าจะยอมให้ประเทศถูกตั้งเงื่อนไขโดยนำมวลชนมากดดันไม่ให้สามารถดำเนินคดีได้หรือไม่   หากไม่ต้องการให้ประเทศอยู่ในภาวะเช่นนี้ก็ต้องให้กระทรวงยุติธรรม และดีเอสไอดำเนินการตามกฎหมาย  ขณะนี้มีการวางแผนดำเนินการเป็นขั้นๆ อย่ารีบร้อน เพราะคนปฏิบัติการต้องระวัดระวัง  ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุเพราะเจ้าหน้าที่ต้องดูแลความสงบเรียบร้อย  ยืนยันไม่มีใครกดดันให้ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย  นายกฯก็ไม่เคยโทรศัพท์มาสั่ง แต่ย้ำให้รอบคอบ  จึงขอความร่วมมือไปยังผู้ต้องหาและผู้สนับสนุนที่อยู่ในเหตุการณ์ทั้งหมดว่าสิ่งที่ทำอยู่คือสิ่งผิดกฎหมาย"พล.อ.ไพบูลย์กล่าว

เมื่อถามว่า  หากจับพระธัมมชโยไม่ได้จะพิจารณาตัวเองอย่างไร  พล.อ.ไพบูลย์ อึ้งไปครู่หนึ่งและตอบว่า สื่อบางฉบับเขียนข่าวตนผิดยังไม่เห็นพิจารณาตัวเองเลย