posttoday

ป.ป.ท.สอบอ.ส.ค.ทุจริตเช่าเครื่องผลิตนม

13 พฤษภาคม 2559

เจ้าหน้าที่ป.ป.ท.เชิญผู้ร้องเข้าให้ข้อมูลโครงการเช่าเครื่องผลิตนมUHT อ.ส.ค. รวบรัดขั้นตอนเอื้อประโยชน์เอกชนบางราย

เจ้าหน้าที่ป.ป.ท.เชิญผู้ร้องเข้าให้ข้อมูลโครงการเช่าเครื่องผลิตนมUHT อ.ส.ค. รวบรัดขั้นตอนเอื้อประโยชน์เอกชนบางราย

ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการ ศอตช. เชิญให้นายโรจน์ สุมงคลกุล ผู้ร้องเรียนให้ตรวจสอบโครงการติดตั้งเครื่องบรรจุไฮท์ สปีด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตนมขององค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) มวกเหล็ก จ.สระบุรี กรณีระบุในคำร้องว่ามีการทุจริต

นายโรจน์ ให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ป.ป.ท.ว่า อ.ส.ค.ริเริ่มโครงการเช่าเครื่องผลิตนม UHT เพิ่มกำลังผลิตไม่น้อยกว่า 23,000 กล่องต่อชั่วโมง จำนวน 3 เครื่อง รวม 69,000 กล่องต่อชั่วโมง มีผลให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 80% ด้วยข้ออ้างกับบอร์ด อ.ส.ค.ว่าปี 2560 จะมีน้ำนมดิบ 320 ตันต่อวัน ซึ่งไม่เป็นความจริงเพราะนมดิบปัจจุบัน มีเพียง 250 ตันต่อวัน ปริมาณการเติบโตนมดิบเพิ่มขึ้นปีละ 6-9% จึงขัดกับข้อเท็จจริงว่าปี 2560 จะมีนมดิบ 320 ตัน

แสดงให้เห็นว่า โครงการนี้ มุ่งแสวงหาผลประโยชน์จากการเช่าเครื่องจักร มากกว่าความจำเป็นและไม่สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของปริมาณนมดิบ อีกทั้งเครื่องจักรที่ผลิตอยู่ในปัจจุบันมีการใช้งานเพียง 70-80% ยังสามารถรองรับปริมาณนมดิบได้อีก 20% และเอกชนเสนอเพิ่มกำลังผลิตเป็น 180,000 กล่องต่อชัวโมง โดยนายนพดล ตันวิเชียร ขณะรักษาการผอ.อ.ส.ค.อนุมัติเห็นชอบแล้ว

ต่อมา มีผู้เข้าพบ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายศักดิ์ชัย ศรีบุญเรือง ประธานบอร์ดอ.ส.ค. เพื่อให้บอร์ดกลับมาพิจารณาโครงการนี้หลังจากที่บอร์ดเคยสั่งทบทวนโครงการ กระทั่ง ก.พ.2559 บอร์ด อ.ส.ค.อนุมัติเช่าเครื่องจักร ผูกพันเป็นระยะเวลา 7 ปี วงเงิน 420 ล้านบาท ค่ากระดาษผลิตกล่องปีละ กว่า 300 ล้านบาท ทำให้โครงการนี้มีมูลค่าสูงกว่า 3,000 ล้านบาท

นายโรจน์ ให้ข้อมูลกับป.ป.ท.ว่า กระบวนการที่รวบรัดเริ่มจาก 19 มี.ค.2559 อ.ส.ค.เซ็นสัญญาอนุมัติ TOR ต่อมา อ.ส.ค.เชิญบริษัทจำหน่ายเครื่องจักร 2 รายมารับเอกสาร TOR วันที่ 23 มี.ค.โดยกำหนดกรอบเวลา คือ  25 มี.ค.ดูสถานที่ตั้งเครื่องจักร 10 วันหลังดูสถานที่คือ 4 เม.ย.ให้ยื่นเสนอราคา พร้อมประกาศผลวันเดียวกัน 27 เม.ย.ลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง กำหนดส่งมอบเครื่องจักรใน 270 วัน ส่วนเอกชนคู่สัญญาเดิม ได้มีหนังสือจากหัวหน้าสำนักงาน อ.ส.ค.ภาคกลาง ให้ชะลอแผนขยายกำลังการผลิตที่ได้รับความเห็นชอบไปก่อนหน้านี้แล้ว

ด้านผู้อำนวยการ อ.ส.ค. ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ กล่าวว่า ในแต่ละปีปริมาณน้ำนมดิบจากฟาร์มของ อ.ส.ค. และจากสมาชิกสหกรณ์ จะเพิ่มขึ้น 10% ขณะที่เครื่องจักรที่มีอยู่ ผลิตได้ในประมาณที่ใกล้จะเต็มศักยภาพ อ.ส.ค.จึงจำเป็นต้องบริหารความเสี่ยง ไม่ให้น้ำนมดิบของสมาชิกตกค้าง อีกทั้งโครงการติดตั้งเครื่องบรรจุนม UHT ไฮสปีด บอร์ด อ.ส.ค.รับทราบมาทุกยุคทุกสมัย แต่ไม่มีบอร์ดชุดไหนตัดสินใจ กระทั่งเขาเข้ามาเป็น ผอ.อ.ส.ค.จึงได้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริง ๆ จัง ๆ กระทั่งบอร์ดชุดปัจจุบันเห็นชอบให้ดำเนินการเช่าเครื่องจักรได้

ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ยืนยันว่า โครงการนี้ อ.ส.ค.ไม่ได้จ่ายเงินเพื่อการลงทุนติดตั้งเครื่องจักร 420 ล้านบาท ไม่ใช่งบลงทุน แต่เป็นการเช่าเครื่องจักร ดังนั้น จึงไม่ต้องผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งไม่ต้องผ่านคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบ

สำหรับประเด็นที่ มีข้อร้องเรียนไปยังหน่ยงานต่าง ๆ ว่าโครงการนี้ทุจริต นั้น ผอ.อ.ส.ค.ระบุว่า ในยุคนี้ไม่มีใครกล้าทำเรื่องทุจริต และได้ย้ำกับเจ้าหน้าที่ทุกระดับ ว่า ต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างโปร่งใส การจัดซื้อจัดจ้าง ไม่ได้รวบรัดขั้นตอนอย่างผิดปกติ การลงนาม T.O.R. การเปิด T.O.R. ไมได้เอื้อประโยชน์ให้บริษัทหนึ่งบริษัทใด มีเจตนาให้แข่งขันโดยเสรี โดยการประมูลในครั้งนี้ กว่าจะติดตั้งเครื่องแล้วเสร็จต้องใช้เวลาเป็นปี

ดังนั้น เมื่อเป็นข่าวว่า ป.ป.ท. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ ศอตช. ได้รับการร้องเรียนของ นายโรจน์ และ ดีเอสไอ รับเรื่องเดียวกันไว้สอบสวน รวมถึงร้องเรียนมายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผอ.อ.ส.ค. กล่าวว่า ได้เตรียมเอกสารทั้งหมดเพื่อเข้าชี้แจงหน่วยงานเหล่านั้นด้วย รวมถึง เตรียมจะเข้าชี้แจง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ด้วย