posttoday

อังคณาหวังคนร่วมลงชื่อ2.5หมื่นยื่นยธ.รื้อคดีทนายสมชาย

21 เมษายน 2559

"อังคณา" หวังล่า 25,000 ชื่ เสนอกระทรวงยุติธรรม รื้อคดี "ทนายสมชาย" ชี้ ต้องทำให้คนตระหนักรู้ถึงปัญหา-มีส่วนร่วม พร้อมดัน ร่างพรบ.ต่อต้านการทรมานและอุ้มหาย

"อังคณา" หวังล่า 25,000 ชื่ เสนอกระทรวงยุติธรรม รื้อคดี  "ทนายสมชาย" ชี้ ต้องทำให้คนตระหนักรู้ถึงปัญหา-มีส่วนร่วม พร้อมดัน ร่างพรบ.ต่อต้านการทรมานและอุ้มหาย

นางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาทนายสมชาย นีละไพจิตร ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิมและรองประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสภาทนายความ ซึ่งหายสาบสูญไปกว่า 12 ปี กล่าวถึงการรณรงค์ผ่านเว็บไซต์ www.change.org เพื่อล่ารายชื่อเสนอเรื่องต่อ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และอีก 6 คนอื่น เพื่อให้รื้อคดี “ทนายสมชาย” อย่างโปร่งใสและอิสระ ขณะนี้เราได้รายชื่อประมาณ 17,000 กว่ารายชื่อแล้ว อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญที่เราต้องการคือสร้าง public awareness ให้ทุกคนในสังคมรู้สึกว่ามีส่วนร่วมได้ ให้ทุกคนตระหนักรู้ถึงปัญหา ให้ทุกคนรู้สึกว่ามีสิทธิและมีส่วนที่จะผลักดัน อันนี้คือจุดประสงค์จริงๆ ไม่ได้คิดว่าจะต้องมีชื่อเป็นหลายหมื่น หรือเป็นแสนรายชื่อ แต่การรณรงค์เป็นธรรมดาที่ต้องมีเป้าอยู่ ซึ่งยิ่งได้เยอะ ก็ยิ่งดี เพราะสามารถจะนำไปเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ ให้เขารู้ว่ามีประชาชนสนใจติดตามอยู่ คือ ถ้าได้อย่างน้อยตามเป้า 25,000 ชื่อ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แบบนี้จะเป็นประโยชน์ ระยะการรณรงค์มี 6 เดือน ตอนนี้ผ่านมา 1 เดือนเศษ ยังไม่รู้เลยว่าความเป็นไปได้ จะได้ผลตามที่หวังจะได้มากน้อยเพียงใด เพราะขณะนี้สถานการณ์บ้านเมืองมีอะไรเยอะมาก ทำให้ความสนใจคนขึ้นๆ ลงๆ  แต่ก็อยากทำให้เห็นว่าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับใครก็ได้  ตอนนี้ก็มีบางกรณีที่ถูกควบคุมตัวแบบไม่เปิดเผย ก็เป็นเรื่องของคดีการหายตัวไปเช่นกัน

นางอังคณา กล่าวต่อว่า ตามที่ได้รณรงค์มี 6 ข้อเรียกร้องที่จะยื่นต่อรมว.ยุติธรรม คือ  1.เร่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ให้สืบคดีของนายสมชาย นีละไพจิตรอย่างจริงจัง 2.สอบสวนการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร และผู้ที่คาดว่าถูกอุ้มหายทุกคนในประเทศไทย อย่างเป็นอิสระ โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ มีการสั่งพักงานเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นไปได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการอุ้ม หาย ตลอดจนนำตัวผู้ต้องสงสัยเข้าสู่การพิจารณาคดีที่เป็นธรรม 3.ผ่าน ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. .... โดยที่เนื้อหาต้องสอดคล้องกับ อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ซึ่งรวมถึงการกำหนดให้การทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย (อุ้มหาย) เป็นความผิดทางอาญาอย่างชัดเจนตามนิยามในอนุสัญญาฉบับดังกล่าวด้วย 4.ให้สัตยาบันต่อ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ และบังคับใช้กฎหมายในประเทศให้สอดคล้องกับข้อบทของอนุสัญญาดังกล่าว 5.ระบุที่อยู่และชะตากรรมของผู้ที่คาดว่าถูกอุ้มหาย ตลอดจนนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม 6.รับประกันว่าผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนและครอบครัวจะได้รับการเยียวยาอย่างเต็มที่

นางอังคณา กล่าวว่า  ส่วนร่างพรบ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ซึ่งสอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ล่าสุดทราบว่าร่างพรบ.ฉบับนี้ ครม.ได้หารือกับศาล กฤษฎีกา แล้วได้ส่งร่างฯให้รับกระทรวงยุติธรรม ตอนนี้ก็คงรอที่จะส่งให้สนช.พิจารณา แต่ก็ไม่มั่นใจว่าจะต้องรออะไรอีกหรือไม่ ที่จะทำให้ร่างพรบฯ ฉบับนี้เข้าสู้การพิจารณาของสนช.ล่าช้าออกไปอีก แต่มาสิ่งที่เรากังวลในการออกพรบ.ฉบับนี้คือเกรงว่าร่างพรบ.ฉบับนี้จะมีการปรับเปลี่ยนทำให้ไม่ตรงกับต้นร่าง ซึ่งเป็นความต้องการของเราจริงๆ เพราะพรบ.นี้จะต้องสอดคล้องกับอนุสัญญาฯ ถ้าร่างพรบ.ฉบับนี้ไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาฯ ก็เท่ากับว่าร่างฯฉบับนี้หากออกมาก็ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

"เท่าที่ติดตามดูเห็นว่ามีการปรับแก้เยอะเหมือนกัน เช่น หากมีการพูดถึงเรื่องผู้บังคับบัญชา แต่ในพรบ.ไม่มีนิยามคำว่าผู้บังคับบัญชา ทำให้ไม่รู้ว่าคำว่าผู้บังคับบัญชานั้น เป็นระดับไหน รวมถึงการต้องมีคณะกรรมการตามพรบ.ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบกรณีทรมานสูญหาย องค์ประกอบของคณะกรรมการ เห็นว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเยอะมาก แต่หายให้สอดคล้องกับอนุสัญญาฯ คณะกรรกการจะต้องมีความหลากหลาย เช่นต้องมีผู้แทนของเหยื่อด้วย เป็นต้น หากเป็นอย่างนั้นก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด"นางอังคณา กล่าว

นางอังคณา กล่าวว่า สิ่งที่ต้องการเห็นในพรบ.ฯหลักๆ เช่น เรื่องนิยามคำว่า “เหยื่อ” ซึ่งต้องหมายถึงรวมครอบครัวด้วย ดังนั้นกรณีที่เหยื่อไม่สามารถมาร้องเองได้ ก็ต้องให้ครอบครัว หรือผู้อื่นที่ทำเพื่อประโยชน์ของผู้เสียหาย ต้องสามารถร้องแทนได้ เรื่องฐานความผิด กฎหมายจะเน้นการไต่สวน ผู้ที่ถูกกล่าวหน้าต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าตัวเองไม่ได้กระทำการเช่นนั้น แทนที่จะผลักภาระให้ผู้เสียหาย