posttoday

5 ข้อเดินทางไกล ลดอุบัติเหตุท้องถนน

16 เมษายน 2559

เมื่อเสร็จสิ้นจากเทศกาลมหาสงกรานต์ปี 2559 มวลมหารถก็พร้อมจะเดินทางออกจากภูมิลำเนา

โดย...ไซเรน

เมื่อเสร็จสิ้นจากเทศกาลมหาสงกรานต์ปี 2559 มวลมหารถก็พร้อมจะเดินทางออกจากภูมิลำเนากลับมาสู่ยังปลายทางอย่างกรุงเทพมหานคร เพื่อมาต่อสู้ทำมาหากินเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวต่อไป

ทุกปีการสูญเสียบนท้องถนนเกิดขึ้นทุกครั้ง เมื่อมีเทศกาลวันหยุดยาว ไม่ว่าจะปีใหม่ สงกรานต์ หรือวันหยุดต่อเนื่องติดกันต่างๆ เป็นเรื่องง่ายที่จะเกิดอุบัติเหตุ

บ้างบาดเจ็บ บ้างทรัพย์สินเสียหาย แต่บ้างก็ต้องจบชีวิตลง

สาเหตุหลักๆ เป็นเพราะความเมาแล้วขับยานพาหนะ ที่ยังครองแชมป์อุบัติเหตุมากที่สุด อาจเพราะคนไทยยังไร้วินัย และความรับผิดชอบบนท้องถนน ทั้งต่อตนเองและผู้ร่วมทางอื่นๆ

ขอมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า ประชาชนร้อยละ 17.2 เคยขับรถหลังจากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วเกิดอุบัติเหตุหรือเกือบเกิดอุบัติเหตุ ประชาชนร้อยละ 21.1 เคยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในขณะเดินทางบนรถทั้งเป็นผู้ขับขี่หรือผู้โดยสาร ประชาชนร้อยละ 25.8 เคยใช้โทรศัพท์ขณะขับรถแล้วเกิดอุบัติเหตุหรือเกือบเกิดอุบัติเหตุ และประชาชนร้อยละ 19.4 เคยขับรถขณะง่วงนอนแล้วเกิดอุบัติเหตุหรือเกือบเกิดอุบัติเหตุ

ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นเหตุผลแห่งความประมาทที่นำไปสู่การสูญเสีย

แน่นอนว่าการเดินทางไกลทุกครั้งทุกอย่างต้องพร้อม ทั้งคนทั้งรถเพื่อไม่ให้เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นมา การเตือนสติกันทุกครั้งที่ต้องเดินทางจึงเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อย

กลเม็ดวิธีที่จะนำพาตัวเองเดินทางไกลเพื่อไปสู่จุดหมายปลายทางได้นั้น มีอยู่ 5 ข้อสำคัญ คือ

1.หาเครื่องดื่มมาช่วยเพิ่มความสดชื่น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มร้อนหรือเย็น ที่สามารถเพิ่มความสดชื่นและทำให้ตื่นตัวได้เป็นอย่างดี

2.หาของกินระหว่างขับ เช่น มันฝรั่ง ลูกอม หมากฝรั่ง นอกจากจะคลายหิวแล้ว ยังช่วยร่างกายตื่นตัวอีกด้วย

3.สร้างความสดชื่นด้วยการลดอุณหภูมิ ปรับความเย็นแอร์ลง หรือเร่งพัดลมแรงขึ้นหันเข้าหาตัว หรือลดกระจกลงเพื่อรับอากาศจากภายนอกบ้าง และควรเตรียมผ้าชุบน้ำไว้เช็ดหน้าด้วย

4.เปิดเพลงฟัง จะช่วยสร้างความครื้นเครงและทำให้ตื่นตัวขณะขับรถ

5.ขยับร่างกายเปลี่ยนแปลงอิริยาบถ การขับรถนานจะทำให้มีอาการง่วง การได้ขยับร่างกายเล็กๆ น้อยๆ จะช่วยลดการเมื่อยล้า และเมื่อรู้สึกปวดเมื่อยให้ส่ายหัวบ้าง ยกมือ ยกแขน หรือเลื่อนเบาะที่นั่ง ปรับพนักพิง เพื่อไม่ให้อยู่ท่าเดิมนานๆ

หากเกิดอาการง่วงนอน อ่อนเพลีย ก็ควรนอนหลับสักพัก แต่ต้องระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดจากการนอนเปิดแอร์และปิดกระจกในรถยนต์ และอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยพบว่ามีการเสียชีวิตจากการเปิดแอร์นอนในรถเกือบทุกปีอย่างน้อยปีละประมาณ 1-2 ราย ซึ่งอันตรายเกิดจากในขณะที่เราสตาร์ทเครื่องยนต์ทิ้งไว้ ปิดกระจกมิดชิด เท่ากับว่าเป็นการนอนดมก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) โดยที่ก๊าซพิษเหล่านั้นจะไหลเวียนมาจากระบบแอร์ของรถยนต์ ที่มีการดูดอากาศจากภายนอกมาหมุนเวียนภายในรถ ทำให้คนที่นอนอยู่ในรถขาดอากาศหายใจและอาจเสียชีวิตได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากรู้สึกง่วงมากๆ และจำเป็นต้องนอนพักในรถยนต์ ควรหาที่จอดในที่โล่ง เมื่อจอดรถยนต์แล้วดับเครื่องยนต์ แง้มกระจกลงสักนิด 2-3 ซม. เพื่อระบายอากาศและรับลมจากภายนอก ห้ามเปิดแอร์และปิดกระจกโดยเด็ดขาด ให้ใช้พัดลมแอร์ช่วยให้หลับ ซึ่งพัดลมแอร์จะดูดอากาศมาหมุนเวียนในห้องโดยสาร แม้จะไม่เย็นเหมือนแอร์ แต่ก็ทำให้หลับได้เช่นกัน และควรนอนพอให้หายอ่อนเพลียประมาณ 30-40 นาที เมื่อพร้อมแล้วจึงเดินทางต่อ