posttoday

หอบหนังสือหนีขึ้นรถไฟไปอ่านด้วยกัน

02 เมษายน 2559

Read everywhere we need เพราะการอ่านไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องสี่เหลี่ยมเท่านั้น แต่ก็ตามสโลแกนนั่นแหละ

โดย...อณุสรา ทองอุไร-ศศิธร จำปาเทศ ภาพ...พิมพ์สุดา วรพงศ์พิเชษฐ

Read everywhere we need เพราะการอ่านไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องสี่เหลี่ยมเท่านั้น แต่ก็ตามสโลแกนนั่นแหละ คือคุณอ่านหนังสือได้ทุกที่ที่ต้องการ Bookburi read on a Train เป็นกิจกรรมส่งเสริมการอ่านโดยใช้ตู้รถไฟเป็นที่อ่านหนังสือ และเมื่อถึงชานชาลาปลายทางผู้ร่วมขบวนจะได้อะไรที่มากกว่าแค่อ่านหนังสือจบเล่มแน่นอน

กิจกรรมนี้จัดขึ้นโดย Bookburi ร้านหนังสืออิสระบนถนนกรุงเกษม ที่เปิดเป็นแผนกหนังสือมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ จนกระทั่งมาถึงรุ่นลูกสาว พิมพ์สุดา วรพงศ์พิเชษฐ ที่คลุกคลีอยู่กับร้านหนังสือหันมาสืบทอดกิจการร้านหนังสือต่อ โดยได้ทำการปรับปรุงร้านหนังสือ เพื่อเชื้อเชิญลูกค้าให้เข้าร้านมากขึ้นแต่ด้วยร้านที่ตั้งอยู่ในละแวกหน่วยงานราชการ ทำให้วันเสาร์-อาทิตย์ บรรยากาศภายในร้านเงียบเชียบ พิมพ์สุดาจึงหันมาจัดกิจกรรมชวนลูกค้าประจำขึ้นรถไฟไปอ่านหนังสือ

“เราก็ไม่รู้จะทำอย่างไรให้คนหันมาอ่านหนังสือ คนขายหนังสือก็ต้องดิ้นรนเองทุกอย่าง เหมือนกับเป็นการโปรโมทร้านอีกทางหนึ่ง ไม่ได้หวังผลทางการเงิน แต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย พยายามส่งเสริมการอ่านมากกว่า คนรุ่นใหม่ไม่กล้าอ่านอะไรใหม่ๆ การมาทำกิจกรรมแบบนี้ทำให้คนรู้จักหนังสือแนวใหม่ที่ตนเองไม่เคยอ่าน บางเรื่องเนื้อหาดี แต่คุณอาจไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่ละหมวดก็มีหนังสือเด่นๆ ที่น่าสนใจให้ทุกคนได้ลองอ่าน พอมาเจอเพื่อนที่อ่านต่างแนวกัน มันก็ถูกจังหวะได้ประโยชน์กับทุกคน”

หอบหนังสือหนีขึ้นรถไฟไปอ่านด้วยกัน

เธอคิดว่าทุกวันนี้คนอาจจะติดโซเชียลมีเดียมากเกินไป หากหันมาลองตั้งเป้าหมายอ่านหนังสือจริงจังมากขึ้นก็อาจจะทำให้อ่านจบ บางคนที่อ่านเก่งๆ ก็สามารถอ่านจบเล่มในทริปได้เลย หรือแลกหนังสือกันอ่าน การอ่านหนังสือบนรถไฟแม้อาจจะดูลำบาก แต่มันก็เข้ากันโดยที่คนนั่งรถไฟไปเที่ยวคงรู้สึกเสียเวลา แต่ถ้าได้อ่านหนังสือไปด้วยก็ถือว่าเป็นการเดินทางที่ได้อะไรระหว่างทางจากการอ่าน พอมาถึงที่หมายก็ไม่ต้องมาเครียดว่ารถไฟจะถึงกี่โมง ไม่ต้องบังคับว่าจะต้องอ่านจบ มันต้องได้อะไรสักอย่างกลับมาอยู่แล้ว

“จุดประสงค์คืออยากให้มีนักอ่านหน้าใหม่ที่อ่านหนังสือลึกซึ้งขึ้น ตามหลักแล้วร้านหนังสืออิสระควรจำหน่ายหนังสือเฉพาะแนวเป็นของตัวเอง แล้วไม่ควรอยู่ด้วยการขายหนังสืออย่างเดียว นั่นเป็นธุรกิจที่ล้าสมัยไปแล้ว ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้เป็นโมเดลธุรกิจที่สร้างสรรค์ ต้องพยายามดิ้นรนทำธุรกิจสร้างสรรค์ สร้างความแตกต่าง และสร้างคอมมูนิตี้ที่จะดึงคนอ่านมาอยู่กับร้านหนังสือ ไม่ใช่แค่มาซื้อก็จบกัน มันก็เป็นโจทย์ที่ต้องพยายามทำให้ได้”

กิจกรรมอ่านหนังสือบนรถไฟจัดขึ้นมาแล้ว 3 ครั้ง ที่ชายหาดสวนสนประดิพัทธ์ น้ำตกไทรโยค และครั้งล่าสุดที่พระราชวังสนามจันทร์ ซึ่งแต่ละสถานที่จะเลือกเพื่อดึงดูดใจให้ผู้ร่วมทริปเหมือนได้ไปเที่ยว มีกิจกรรมให้ทำระหว่างอยู่บนรถไฟ ทุกคนจะทำการบ้านของตัวเองในการเลือกหนังสือที่แทนตัวเองหนึ่งเล่ม บางคนจำเพื่อนร่วมทริปเป็นชื่อหนังสือ มันช่วยสร้างการจดจำให้ผู้ร่วมขบวน พีกสุดตอนรวมวงคุยกันในบรรยากาศริมทะเล บรรยากาศริมน้ำตก มีเสียงนกร้อง ถ้าคุยปากเปล่าได้ก็คุยปากเปล่า เราจะให้จับสลากเวียนกันพูดแนะนำหนังสือให้เพื่อนฟัง

หอบหนังสือหนีขึ้นรถไฟไปอ่านด้วยกัน

สำหรับสมาชิกที่เข้าร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่จะอายุ 20 ปีขึ้นไป คาดว่าในช่วงปิดเทอมจะจัดกิจกรรมสำหรับให้เด็กๆ และผู้ปกครองร่วมเดินทางกับขบวนรถไฟวรรณกรรมเยาวชน สามารถติดตามกิจกรรมและเงื่อนไขกิจกรรมได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ Bookburi

“ถึงแม้เสียงดังแต่ก็ทำให้เราจดจ่ออยู่กับการอ่านได้ต่อเนื่องเหมือนกัน นี่แหละคือเสน่ห์ของการเดินทาง บางคนทำเป็นปกติที่เวลาเดินทางจะอ่านหนังสือไปด้วยสักเล่ม พอเราทำแคมเปญขึ้นมาก็กระตุ้นให้คนสนใจที่จะทำบ้าง ให้คนไทยรู้สึกว่าต้องอ่านเป็นนิสัย ควรจะมีหนังสือพกไปแทนที่จะนั่งเล่นโทรศัพท์ เป็นสิ่งหนึ่งที่เราได้ทำเพื่อสังคม ลองหยิบหนังสือที่คิดว่าอยากอ่านให้จบมาอ่านบนรถไฟด้วยกัน”

การอ่านหนังสือเล่มหนึ่งก็เหมือนรถไฟหนึ่งขบวนที่กำลังวิ่งบนราง มันคือการเดินทางรูปแบบหนึ่ง ซึ่งหนังสือแต่ละเล่ม รถไฟแต่ละขบวน ต่างก็มีเส้นทางความสนุก เนื้อหาที่ไม่ซ้ำกัน ขึ้นอยู่ที่คุณแล้วว่าจะเลือกนั่งรถไฟขบวนไหน