posttoday

สะกิดพณ.อย่าเฮี้ยนป่วนระบบยา

03 สิงหาคม 2553

นางนิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ เรียกร้องให้ระงับการบีบบังคับให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทำหน้าที่การปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เพราะจะส่งผลกระทบต่อการใช้ยาของประชาชน

นางนิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ เรียกร้องให้ระงับการบีบบังคับให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทำหน้าที่การปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เพราะจะส่งผลกระทบต่อการใช้ยาของประชาชน

นางนิยดา กล่าวว่า หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม ซึ่งเป็นหน่วยวิชาการที่ติดตามและศึกษาวิจัยระบบยามาอย่างต่อเนื่อง เห็นว่าไทยมีกฎหมายที่กำกับดูแลเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยที่แยกจากระบบทรัพย์สินทางปัญญาอยู่แล้ว จึงควรที่จะบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพและให้เป็นไปภายใต้กรอบของกฎหมาย โดยที่คำนึงถึงผลประโยชน์ ของประชาชนเป็นสำคัญ

นางนิยดา กล่าวอีกว่า นายอลงกรณ์กำลังจะดึง อย. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลด้านคุณภาพและความปลอดภัยของประชาชน และมีหน้าที่โดยตรงเกี่ยวข้องกับระบบยา ให้ไปลงนามบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ซึ่งเท่ากับให้ อย.ไปทำหน้าที่ปราบปรามการทำผิดด้านทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นเรื่องของทรัพย์สินเอกชน

ก่อนจะทำเรื่องนี้ต้องเข้าใจและเห็นถึงความสำคัญของนิยามคำว่า “ยาปลอม” ก่อนว่าต้องแยกแยะระหว่าง “คุณภาพและความปลอดภัย” และ “การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา”

“หากมีการขยายนิยามคำว่า ‘ยาปลอม’ ให้ครอบคลุมเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา จะก่อให้เกิดการสับสนและความเข้าใจผิด และส่งผลให้เกิดการสกัดกั้นการแข่งขันจากยาชื่อสามัญที่มีคุณภาพและถูกต้องกฎหมาย ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้ราคายาถูกลงและช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาได้เพิ่มขึ้น” นางนิยดา กล่าว

นางนิยดา กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลกครั้งล่าสุด เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ได้มีมติที่เกี่ยวกับการนิยาม คำว่า “ยาปลอม” ไว้แล้วว่าให้มุ่งเน้นเฉพาะด้านคุณภาพยาที่มีผลกระทบต่อสุขภาพเท่านั้น มิใช่ความหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งไทยก็ได้แสดงจุดยืนในแนวทางนี้อย่างชัดเจนมาตลอด