posttoday

ถกมือถือ2จีไร้ทางออก

03 สิงหาคม 2553

นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที เปิดเผยหลังให้ผู้ให้บริการมือถือทั้ง 3 รายเข้าพบเมื่อวันที่ 2 ส.ค. ว่า ใช้เวลาในการหารือกว่า 5 ชั่วโมง ประเด็นหลักคือการทำความเข้าใจเรื่องการยุติสัญญาสัมปทานมือถือแล้วเปลี่ยนสู่ใบอนุญาตให้บริการ หรือไลเซนส์ 2จี ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนความเห็น แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปในเชิงลึก

นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที เปิดเผยหลังให้ผู้ให้บริการมือถือทั้ง 3 รายเข้าพบเมื่อวันที่ 2 ส.ค. ว่า ใช้เวลาในการหารือกว่า 5 ชั่วโมง ประเด็นหลักคือการทำความเข้าใจเรื่องการยุติสัญญาสัมปทานมือถือแล้วเปลี่ยนสู่ใบอนุญาตให้บริการ หรือไลเซนส์ 2จี ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนความเห็น แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปในเชิงลึก

 

ถกมือถือ2จีไร้ทางออก

ทั้งนี้ เนื่องจากทั้ง 3 เรื่องที่ต้องพิจารณา คือ กฎหมาย เทคนิค และการเงิน มีความซับซ้อนและไม่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะเรื่องอายุสัมปทานที่เหลืออยู่ และเรื่องคลื่นความถี่ ซึ่งการหารือกับเอกชนเพื่อให้ได้แนวทางที่ชัดเจนในการนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอีก 2 สัปดาห์ ซึ่งขณะนี้ความคืบหน้าแบ่งเป็นข้อมูลดิบ 70% และบทวิเคราะห์ 40%

สำหรับแนวทางเบื้องต้นจะยึดตามกรอบของกระทรวงการคลัง คือ ค่าธรรมเนียมไลเซนส์ใบอนุญาตใหม่ที่ 12.5% ต่อปี และอายุสัญญาสัมปทาน 15 ปี ซึ่งได้หารือกับทางคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. แล้วว่ามีข้อกฎหมายที่ กทช.สามารถให้ไลเซนส์ได้ แต่ต้องเป็นการเปิดประมูลคลื่นความถี่เดิมใหม่ และไม่ได้จำกัดแค่ 3 รายเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เป็นครั้งแรกตั้งแต่รมว.ไอซีทีเข้ารับตำแหน่งที่เปิดให้เอกชนเข้าพบอย่างเป็นทางการ ประกอบด้วย นายสมประสงค์ บุญยะชัย และนายวิ เชียร เมฆตระการ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ บริษัท ไทยคม นายทอเร่ จอห์นเซ่น และ นายธนา เธียรอัจฉริยะ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค และ นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายอธึก อัศวนันท์ และ นาย ขจร เจียวนนท์ บริษัท ทรูมูฟ

นายจุติ กล่าวว่า หลังจากหารือกับเอกชนแล้วจะพบกับทีโอที และ กสท โทรคมนาคม เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องนี้เช่นกัน ซึ่งส่วนของทีโอทีนั้น มีสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เป็นหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบจากการเมืองโดยตรง เห็นได้จากกรณีภาษีสรรพสามิตโทรคมนาคม และแผนการนำทีโอทีเข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่ยืนยันว่าจะเข้าไปยุ่งกับทีโอทีให้น้อยที่สุด และอยากให้มั่นใจว่าคณะกรรมการ (บอร์ด) ที่มีนายอารีพงศ์ ภู่ชะอุ่ม เป็นประธาน จะเข้ามาช่วยเหลือองค์กรให้สามารถอยู่รอด

ในส่วนของภาคเอกชนมีความกังวลใน 2 ประเด็นหลัก คือ เรื่องกฎหมาย และเรื่องคลื่นความถี่ ที่ต้องชัดเจนว่าคลื่นความถี่ควรจะคืนกลับไปให้ กทช. มากกว่าที่จะให้กลับไปอยู่ที่ ทีโอที และ กสทฯ ซึ่งทั้งหมด จะต้องส่งเอกสารถึงแนวทางที่ควรจะเป็นให้คณะกรรมการภายในสัปดาห์นี้

นายวิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอสจะไม่ส่งความเห็นใดๆ เพราะเห็นว่าการประมูล 3จี มีความแน่นอนมากกว่า แต่ยินดีที่จะปฏิบัติตามแนวทางของรัฐบาลทุกอย่าง

นายทอร่ จอห์นเซ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค กล่าวว่า ดีแทคได้ทำงานคู่ขนานทั้งเรื่องไลเซ่นส์ 2 จี และการเข้าประมูล 3 จี ซึ่งขณะนี้การเข้าประมูล 3 จีมีกรอบเวลาที่ชัดเจนว่าต้องยื่นประมูลภายในเดือนนี้ ดังนั้น จึงต้องการให้เรื่องไลเซ่นส์ 2 จีมีรายละเอียดและความชัดเจนให้มากที่สุด เพราะไม่เช่นนั้น ดีแทคจะเลือกทางที่มีความแน่นอนมากกว่า

ส่วนเรื่องดาวเทียมไทยคมที่ให้คณะกรรมการมาตรา 22 ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมหรือดำเนินงานในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 หรือ พ.ร.บ.ร่วมทุน สรุปทางออกที่ไทยคมต้องดำเนินการนั้น ทางคณะกรรมการแจ้งว่าต้องการรอดูวันที่ 11 ส.ค.นี้ว่าศาลฎีกาจะรับอุทธรณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือไม่ หากศาลไม่รับทุกอย่างก็จะเดินหน้าต่อไปได้