posttoday

แลกเปลี่ยนความรู้และเทคนิค กลุ่มช่างภาพอากาศยานฯ

12 มีนาคม 2559

การตั้งกลุ่มของคนรักการถ่ายภาพในแบบต่างๆ ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด แต่มีกลุ่มหนึ่งที่ถ่ายภาพได้เจ๋งโดนใจเรามากๆ

โดย...ภาดนุ

การตั้งกลุ่มของคนรักการถ่ายภาพในแบบต่างๆ ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด แต่มีกลุ่มหนึ่งที่ถ่ายภาพได้เจ๋งโดนใจเรามากๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นภาพเครื่องบินในมุมต่างๆ ทั้งตอนบินขึ้นและบินลง กลุ่มที่ว่านี้ก็คือ “กลุ่มช่างภาพอากาศยานแห่งประเทศไทย” ส่วนจะมีที่มาอย่างไรนั้น ไปคุยกับหัวหน้ากลุ่มกันเลย

บริบูรณ์ อามระดิษ ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษาของกลุ่มบอกว่า “กลุ่มช่างภาพอากาศยานแห่งประเทศไทย” หรือ Thai Aviation Photographer Group (TAPG) เริ่มตั้งกลุ่มและเปิดเฟซบุ๊กขึ้นในปี 2556 โดยมีสมาชิกผู้ก่อตั้งคือตัวเขาและ ภานุรัตน์ อุทัยจันทร์ สุรพงษ์ ใจตรงรัก เสฎฐนันท์ มีมุ่งบุญ และ จิรพันธ์ จานแก้ว (ปัจจุบันลาออก) แล้วมีผู้มาเข้าร่วมเป็นคณะทำงานเพิ่มเติมอีกสองคนคือ ไชยพร มีคำ (ปัจจุบันลาออก) และกิตตินันท์ ช่วงบุญศรี จึงทำให้ตอนนี้มีสมาชิกของกลุ่มทั้งหมดเกือบ 1.4 หมื่นคนแล้ว

“ก่อนอื่นผมขออธิบายถึงที่มาที่ไปก่อนว่า กลุ่มที่ทำกิจกรรมยามว่างลักษณะแบบนี้ในต่างประเทศจะมีชื่อเรียกว่า Airplane Spotter หรือ Aviation Photography ครับ แต่ในประเทศไทยเริ่มมีการพบปะรวมตัวกันเมื่อประมาณ 14 ปีก่อน (หรืออาจจะมากกว่านั้น) โดยบางส่วนเริ่มจากกลุ่มที่ขับเครื่องบินจำลองในเว็บไซต์ thaiflight.com แล้วแตกแขนงมาถ่ายภาพเครื่องบินเรื่อยมา แต่ก็ยังเป็นกลุ่มเล็กๆ กระจัดกระจายกันอยู่

ต่อมาพอมีการใช้เฟซบุ๊กจึงมีการตั้งกลุ่ม Thailand Spotter ขึ้นมาก่อน โดย พร้อมพงษ์ จรูญศรี แล้วจึงขยับขยายมาตั้งกลุ่มที่เปิดสู่สังคมและทำกิจกรรมอย่างจริงจังมากขึ้น โดยใช้ชื่อว่า ‘กลุ่มช่างภาพอากาศยานแห่งประเทศไทย’ หรือ Thai Aviation Photographer Group (TAPG) อย่างในตอนนี้”

บริบูรณ์บอกว่า สำหรับจุดประสงค์ของการตั้งกลุ่ม ส่วนแรกคือ ให้ความรู้และแลกเปลี่ยนเทคนิคการถ่ายภาพเครื่องบิน เนื่องจากการถ่ายภาพเครื่องบินต้องมีการใช้เทคนิคและความรู้ในการถ่ายภาพพอสมควร เพราะเครื่องบินเป็นวัตถุเคลื่อนที่ที่มีความเร็วสูง รวมถึงมีข้อจำกัดของสภาพอากาศและสภาพแสงประกอบด้วย ซึ่งบางครั้งจะเปลี่ยนแปลงสภาพอย่างรวดเร็ว จึงต้องอาศัยประสบการณ์พอสมควร กลุ่มจึงทำหน้าที่แบ่งปันและแลกเปลี่ยนความรู้ให้กับสมาชิก ซึ่งการถ่ายภาพเครื่องบินจะแบ่งออกเป็นสองแบบด้วยกัน

“แบบแรกคือ การถ่ายภาพเครื่องบินโดยถ่ายเน้นไปที่ตัวเครื่องบินเพื่อชี้เฉพาะยี่ห้อ รุ่น ประเภทการใช้งาน สายการบิน และลวดลายพิเศษที่สวยงามต่างๆ ไว้อ้างอิงเพื่อการศึกษาและประวัติในด้านการบินของประเทศไทย

แบบที่สองคือ การถ่ายแบบผสมผสานกับสภาพแวดล้อมและทิวทัศน์ของสนามบินที่สวยงาม เช่น ภูเก็ต ตรัง เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ฯลฯ และถ่ายภาพในสภาพแสงที่สวยงามร่วมกับองค์ประกอบ เช่น เมฆ ท้องฟ้าสวยงาม พระอาทิตย์ และพระจันทร์ ซึ่งส่วนนี้เป็นผลพลอยได้ให้กับประเทศเรา เพราะสามารถใช้ภาพถ่ายช่วยประชาสัมพันธ์เพื่อดึงดูดใจนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ชอบเครื่องบินให้มาเที่ยวชมเครื่องบินที่สนามบินต่างๆ ในเมืองไทยได้”

แลกเปลี่ยนความรู้และเทคนิค กลุ่มช่างภาพอากาศยานฯ

 

บริบูรณ์เสริมว่า จุดประสงค์ส่วนที่สองก็คือ การให้ความรู้เกี่ยวกับเครื่องบินและด้านการบิน เนื่องจากสมาชิกในกลุ่มนี้ไม่ได้มีเพียงแค่นักถ่ายภาพเครื่องบินเท่านั้น ยังประกอบไปด้วยผู้สนใจทั่วไป ผู้เชี่ยวชาญในการถ่ายภาพ และบุคลากรด้านการบิน เช่น นักบิน ลูกเรือ ช่าง เจ้าหน้าที่จัดการจราจรทางอากาศ และอื่นๆ จึงมีการใช้ประโยชน์จากภาพถ่ายเครื่องบิน สนามบิน เป็นส่วนประกอบในการให้ความรู้จากบุคลากรในวงการโดยตรง ซึ่งผู้สนใจทั่วไปก็สามารถมาตั้งคำถามให้ผู้ที่มีความรู้ในแวดวงการบินตอบให้ได้

“จุดประสงค์ในส่วนที่สามก็คือ ทำกิจกรรมร่วมกันภายในกลุ่มและร่วมกับองค์กรด้านการบินต่างๆ โดยมีการนัดพบปะกัน ยิ่งตอนนี้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทางกลุ่มจึงได้เริ่มจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การพบปะสังสรรค์เพื่อแนะนำทำความรู้จักกันระหว่างสมาชิก จัดกิจกรรมอบรมแนะนำการใช้โปรแกรมตกแต่งภาพให้กับสมาชิก ร่วมทำกิจกรรมกับบริษัท การบินไทย ในการอบรมถ่ายภาพเครื่องบิน Boeing 787 Dreamliner ของบริษัท การบินไทย รวมทั้งร่วมจัดกิจกรรมอำลาเครื่องบิน Airbus A300-600 ของการบินไทย ในเที่ยวบินสุดท้ายคือไฟลต์ TG045 ขอนแก่น-กรุงเทพฯ

นอกจากนี้ ยังมีการจัดอบรมการถ่ายภาพอากาศยานประวัติศาสตร์ที่ ‘พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ’ โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัท โฟโต้ไฟล์ กรุ๊ป และบริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ประเทศไทย) การถ่ายภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวให้กับฝูงบิน ‘กรมฝนหลวงและการบินเกษตรกระทรวงเกษตร’ เพื่อจัดแสดงเผยแพร่ภารกิจของกรมฯ ในงานโฟโต้แฟร์ 2015 ทั้งยังร่วมกับสมาคมธุรกิจถ่ายภาพแสดงภาพถ่ายอากาศยาน ในงานโฟโต้แฟร์ ปี 2014 และ 2015 และยังจัดถ่ายรูปแฟชั่นชุดลูกเรือสายการบินต่างๆ ในงานโฟโต้แฟร์ 2015 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการบินไทย บางกอกแอร์เวย์ส ไทยไลอ้อนแอร์ และสยามแอร์อีกด้วย”

บริบูรณ์ทิ้งท้ายว่า นอกจากนี้สมาชิกบางส่วนของกลุ่มยังได้มีการจัดตั้งกลุ่มถ่ายภาพอากาศยานในภาคต่างๆ ขึ้นด้วย ติดตามชมภาพได้ในเฟซบุ๊ก เช่น CNX SPOTTERS, Southern Thailand Aviation Spotters และ E-san Aviation Spotters Thailand

“สำหรับผู้ที่สนใจจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ ‘กลุ่มช่างภาพอากาศยานแห่งประเทศไทย’ หรือ Thai Aviation Photographer Group (TAPG) ส่งคำขอเข้าร่วมกลุ่มมาได้ที่ www.facebook.com/groups/tapg2013/