posttoday

ซื้อก๊าซพม่าเพิ่มปั่นไฟ

30 กรกฎาคม 2553

ขยับสัดส่วนใช้ผลิตถึง20% ลดนำเข้าน้ำมัน4แสนล./ปี

ขยับสัดส่วนใช้ผลิตถึง20% ลดนำเข้าน้ำมัน4แสนล./ปี


นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า วันที่ 30 ก.ค.นี้ จะเดินทางไปพม่าเพื่อเป็นประธานร่วมในพิธีลงนามซื้อขายก๊าซธรรมชาติแปลงเอ็ม 9 ในโครงการซอลติก้าของพม่า ระหว่างบริษัท ปตท. ในฐานะผู้ซื้อกับผู้ขาย บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) และบริษัท เมียนมาร์ ออยล์ แอนด์ แก๊ส เอ็นเตอร์ไพรส์ ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของพม่า ปริมาณ 240 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน เพื่อรองรับการใช้เป็นเชื้อเพลิง ผลิตกระแสไฟฟ้าและภาคขนส่ง

ทั้งนี้ แหล่งก๊าซฯ ซอลติก้า จะเริ่มส่งก๊าซฯ ให้ไทยตั้งแต่ปี 2556 อายุสัญญา 30 ปี ราคาซื้อขายเฉลี่ย 68 เหรียญสหรัฐ/ ล้านบีทียู ซึ่งจะทำให้สัดส่วนการนำเข้าก๊าซฯ จากพม่า เพิ่มเป็น 1,205 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน จากเดิม 965 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 62,500 เมกะวัตต์ และลดปริมาณการนำเข้าน้ำมันเตาได้ 2,400 ล้านลิตร/ปี หรือคิดเป็นมูลค่า 4 แสนล้านบาท/ปี

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้นำเข้าก๊าซฯ จากพม่า 2 แหล่ง คือ แหล่งเยตากุน 400 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน และแหล่งยาดานา 565 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน และล่าสุดเป็นแหล่งเอ็ม 9 ทำให้ปริมาณนำเข้าก๊าซฯ จากพม่า เพิ่มจากเดิม 17% เป็น 20% ของปริมาณก๊าซฯ ที่ไทยนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า นอกจากนี้การพัฒนาก๊าซฯ แหล่งเอ็ม 9 ยังทำให้โครงข่ายท่อก๊าซในอาเซียน เพิ่มขึ้นเป็น 3,020 กิโลเมตร จากเดิม 2,800 กิโลเมตร ทำให้ภูมิภาคเอเชียมีความมั่นคงด้านพลังงานและเชื่อมโยงไปส่วนต่างๆ ของภูมิภาคกรณีเกิดการขาดแคลนปิโตรเลียม

“แหล่งก๊าซฯ พม่าที่นำเข้ามาเพิ่มจะนำไปใช้ผลิตไฟฟ้า และเป็นเอ็นจีวีในรถยนต์ การลงนามซื้อขายก๊าซฯ ฉบับนี้เป็นฉบับที่ 3 แล้วกับพม่า แม้ขณะนี้มีปัญหาปิดด่านชายแดนแม่สอด จ.ตาก แต่ไม่เกี่ยวกับนโยบายหลัก” และความสัมพันธ์ของไทยกับพม่าในการเมืองระดับประเทศแน่นอนโดยเฉพาะความร่วมมือด้านการพัฒนาพลังงานยังมีอย่างต่อเนื่อง นพ.วรรณรัตน์ กล่าว

น.พ.วรรณรัตน์ กล่าวถึง สำหรับการเดินทางไปร่วมประชุม รมว.พลังงาน อาเซียนครั้งที่ 28 ที่เมืองดาลัด ประเทศเวียดนามระหว่างวันที่ 21-23 ก.ค. ที่ผ่านมาว่า สาระสำคัญที่หารือ คือ การหามาตรการรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นรวมทั้งความร่วมมือด้านพลังงานเพื่อสร้างความเป็นหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน ตามแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียน ใน 7 ด้านเช่น .การอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งเป้าหมายลดการใช้พลังงานต่อจีดีพี อย่างน้อย 8% ภายในปี 2558 เป็นต้น