posttoday

เศรษฐกิจสุดกู่ไตรมาส2โต8%

30 กรกฎาคม 2553

 คลังโชว์เศรษฐกิจโตไม่หยุดไตรมาส 2 ทะยาน 8%

 คลังโชว์เศรษฐกิจโตไม่หยุดไตรมาส 2 ทะยาน 8%

 

เศรษฐกิจสุดกู่ไตรมาส2โต8%

นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า คาดว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2553 จะขยายตัวได้ 8% จากไตรมาสแรกที่ขยายตัว 12% เป็นผลมาจากการส่งออกที่ขยายตัวสูง และขณะนี้มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศแล้วจนถึงปี 2554

 ขณะที่ไตรมาสที่ 3 ยังได้รับอานิสงส์จากภาคการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดีอยู่ เห็นได้จากไตรมาสที่ 2 มีการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อการผลิตมาก และภาคเอกชนแจ้งว่า ขณะนี้มีคำสั่งซื้อสินค้าไปถึงปี 2554 แล้ว ส่วนไตรมาสที่ 4 ก็น่าจะยังขยายตัวได้ดี เพียงแต่ต้องจับตาปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะการที่ประเทศต่างๆ จะทยอยถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ“เชื่อว่าส่งออกไตรมาส 3 ยังไปได้ แล้วพอไตรมาส 4 ก็ยังดี หากแต่จะมีปัจจัยภายนอกมากระทบมากขึ้น เพราะพอเศรษฐกิจโลกดีขึ้น ก็จะมีการถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และดอกเบี้ยก็จะเพิ่มขึ้นด้วยอย่างประเทศในกลุ่มยุโรปที่มีปัญหาหนี้สาธารณะ ก็อาจจะลดรายจ่าย แล้วเก็บรายได้ภาษีเพิ่มขึ้น เช่น กรีซ ฮังการี เป็นต้น การบริโภคก็อาจจะน้อยลง อาจมีผลกระทบกับการส่งออกของไทย ซึ่ง สศค.ไม่ประมาท จึงไม่ประมาณการเชิงบวกเกินไป” นายสาธิต กล่าว
สำหรับประมาณการเศรษฐกิจของ สศค.ล่าสุดเมื่อเดือน มิ.ย. 2553 สศค.ได้ปรับประมาณการอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2553 โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ 5-6% ต่อปี อย่างไรก็ดี ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะแถลงตัวเลขอัตราขยายตัวที่แท้จริงอีกครั้งในเดือน ส.ค.นี้

นายสาธิต กล่าวอีกว่า คาดว่าไทยจะสามารถเข้าสู่การจัดทำงบประมาณแบบสมดุลโดยไม่ต้องใช้เวลาถึง 5 ปี หรือก่อนปี 2558 ตามการคาดการณ์เดิมที่ตั้งสมมติฐานว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวเฉลี่ยปีละ 4.5% เนื่องจากเศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้นมาก และรัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้เกินเป้าหมายสูงกว่า 2 แสนล้านบาท ในปีงบประมาณ 2553 นี้

ทั้งนี้ สำหรับข้อเสนอของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่ให้เร่งปรับโครงสร้างภาษีนั้น ก็ถือว่าเป็นข้อเสนอ แต่ในโลกความเป็นจริงแล้ว การหาทางทำให้งบประมาณสมดุลมีด้วยกันหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขกฎหมายเพื่ออุดช่องว่าง การหารายได้จากต่างประเทศ การขึ้นภาษี และการร่วมทุนแบบ PPP กับภาคเอกชน ซึ่งในกรณีของไทยคงเน้นรูปแบบ PPP เป็นหลัก
 
อย่างไรก็ดี ความเป็นห่วงเรื่องนโยบายประชานิยมที่จะมีต่อฐานะการ คลังนั้น สศค.อยู่ระหว่างวิเคราะห์โดยให้ประเทศญี่ปุ่นเป็นตัวอย่าง เนื่องจากเป็นประเทศที่มีการจ่ายสวัสดิการโดยเฉพาะผู้สูงอายุจำนวนมาก ซึ่งโครงสร้างประเทศไทยเริ่มคล้ายคลึงกันซึ่งแนวโน้มของไทยก็คล้ายกับญี่ปุ่น ซึ่งจะต้องศึกษาดูว่ามีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน

นายสาธิต กล่าวว่า สำหรับภาวะเศรษฐกิจของไทยในเดือน มิ.ย.2553 พบว่า ยังขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวในระดับสูงที่ระดับ 46.3% โดยเป็นการปรับตัวดีขึ้นในแทบทุกหมวดสินค้าส่งออกและแทบทุกตลาด ขณะที่การใช้จ่ายภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องทั้งจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวที่ 21.2% และปริมาณนำเข้าสินค้าทุนขยายตัว 41.5%
 
นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้หลังจากเหตุการณ์ทางการเมือง โดยหดตัวเพียงเล็กน้อยที่ 1.1% สะท้อนการปรับตัวเข้ามาสู่ภาวะปกติของภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้ ถือว่าสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน มิ.ย. ถือว่าฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่คาด จากที่เดือนก่อนหน้านี้ประสบกับปัญหาการชุมนุมทางการเมือง ทั้งนี้ มีเพียงดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเท่านั้นที่ชะลอตัว

"จากที่คิดว่าจะแย่มากๆ ก็แค่ชะลอ ไม่ถึงกับติดลบ ก็หวังว่าการเมืองในช่วงไตรมาสสุดท้ายคงจะนิ่ง จะได้มีนักท่องเที่ยวทางยุโรปเข้ามามากขึ้น เพราะตอนนี้นักท่องเที่ยวที่เข้ามา ส่วนใหญ่จะเป็นแถบเอเชีย เช่น อินเดีย เป็นต้น แต่ยุโรปที่มีกำลังซื้อมากกว่ายังไม่มา" นายเอกนิติ กล่าว

นายเอกนิติ กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 3.3% ลดลงจาก 3.5% ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานก็ลดลงเหลือ 1.1% จาก 1.2% ซึ่งชี้ให้เห็นว่าขณะนี้ไม่มีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ส่วนหนี้สาธารณะถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างมั่นคง คือ 42.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี ไม่ถือเป็นระดับที่สูง เพราะเป็นหนี้ที่รวมหนี้ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ต่างจากหลายประเทศที่จะคำนวณแค่หนี้ของรัฐบาลเท่านั้นหนี้ที่รัฐบาลกู้จริงๆ อยู่ที่ 28.39% ขณะที่หนี้รัฐวิสาหกิจ 11.34% หนี้ธนาคารของรัฐ 1.9% และหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินอยู่ที่ 1.2% เท่านั้น

นายเอกนิติ กล่าวว่า มั่นใจว่า หนี้สาธารณะของไทยจะอยู่ในระดับสูงสุด ในปี 2555-2556 แต่จะไม่ขึ้นไปถึง 60% ต่อจีดีพี เหมือนอย่างที่เคยคาดไว้แล้ว ก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาระบุว่า รัฐต้องวางแผนเตรียมการเพื่อ เข้าสู่การสมดุลงบประมาณใน 5-10 ปีข้างหน้า เพื่อรักษาความยั่งยืนในระยะปานกลาง พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาหนี้สาธารณะ เพราะเห็นว่าโครงสร้างทางการคลังของไทยมีข้อจำกัดอยู่มาก