posttoday

เด็กและคนแปลกหน้า ภัยร้ายที่ต้องระวัง

20 กุมภาพันธ์ 2559

เรื่องที่สะเทือนสังคมและหัวจิตหัวใจของผู้เป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง คงหนีไม่พ้นเรื่องบุตรหลานอันเป็นที่รักต้องหายตัวไป

โดย...ไซเรน

เรื่องที่สะเทือนสังคมและหัวจิตหัวใจของผู้เป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง คงหนีไม่พ้นเรื่องบุตรหลานอันเป็นที่รักต้องหายตัวไป ยิ่งเป็นการถูกล่อลวงด้วยแล้ว ชะตากรรมของเด็กคงตกอยู่ในแง่ร้าย ที่น่าสนใจคือปัญหาการติดตามตัวเด็กค่อนข้างจะสำเร็จได้ยากยิ่งนัก

เพื่อให้เด็กได้รู้เท่าทันภัยเกราะป้องกันที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นการปลูกฝังเรื่อง “คนแปลกหน้า” โดยพ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องเป็นผู้สร้างทักษะในการเฝ้าระวังให้กับเด็กจนฝังรากลึกในความคิดของเด็ก เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุที่อาจจะไม่ได้เจอหน้าลูกหลานอันเป็นที่รักอีกต่อไป

 การป้องกันเด็กให้พ้นจากอันตรายจากคนแปลกหน้านั้น พ่อแม่ผู้ปกครองต้องสอนลูกหลานตั้งแต่ยังเด็ก โดยเฉพาะช่วงอายุที่ต่ำกว่า 6 ขวบ เนื่องจากเป็นวัยที่เสี่ยงต่อการถูกล่อลวงได้ง่าย เนื่องจากการแก้ไขปัญหาของเด็กวัยนี้จะมีทักษะน้อย การแก้ไขอันดับแรก คือ เด็กต้องอยู่ในสายตาพ่อแม่ผู้ปกครองตลอดเวลา เพราะสถิติสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยสาเหตุเด็กหายนั้นมักจะเกิดในช่วงที่พ่อแม่ผู้ปกครองนั้นพลั้งเผลอ และเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น เด็กก็หายไป ทั้งปล่อยเด็กเล่นตามลำพัง ให้เด็กอยู่ในรถ หรือในบ้านคนเดียว

 การดูแลไม่ให้เกิดเหตุการณ์น่าเศร้าขึ้นในครอบครัว จึงต้องทำความเข้าใจโดยพ่อแม่ต้องเป็นคนอธิบายด้วยตัวเอง เพราะเด็กวัยนี้จะเชื่อพ่อแม่ที่สุด โดยแบ่งเป็น

1.เรื่องคนแปลกหน้า จำเป็นต้องสอนและตั้งเป็นกฎว่า ห้ามเด็กไปไหนกับคนแปลกหน้าโดยที่พ่อแม่ไม่รู้โดยเด็ดขาด แม้แต่ญาติก็ต้องทำให้ชัดเจนว่าลูกต้องถามความเห็นและให้พ่อแม่เป็นผู้อนุญาตทุกครั้ง โดยจำกัดวงของคนแปลกหน้าที่ลูกจะสามารถไปไหนมาไหนด้วยได้ให้น้อยที่สุด

2.การรับของจากคนแปลกหน้า พ่อแม่จะต้องไม่ปล่อยให้ใครก็ตามให้ของกับลูก เพื่อป้องกันการใช้ของมาหลอกเด็ก เพราะจากเหตุการณ์ลักเด็กหลายครั้ง คนร้ายมักจะเอาของเล่นหรือขนมมาให้เด็กและล่อหลอกให้เด็กตายใจ ในเด็กเล็กจึงควรห้ามเด็กรับของจากคนแปลกหน้าเด็ดขาด เพื่อเป็นเครื่องป้องกันหากเด็กคลาดสายตาเด็กก็จะไม่รับของจากใครง่ายๆ แต่หากกรณีมีผู้ใหญ่อยากให้ของเด็ก พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจกับผู้ใหญ่ว่าสอนให้เด็กไม่รับของ หากอยากจะให้ต้องให้พ่อแม่เป็นผู้รับด้วยตัวเองเท่านั้น

 ข้อมูลเสริมจาก พญ.พรรณพิมล วิปุลากรโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ย้ำว่า พ่อแม่จำเป็นต้องสอนทักษะพื้นฐาน เช่น ถ้าลูกรู้สึกกังวลต้องขอความช่วยเหลือ ด้วยวิธีต่างๆ เช่น การร้อง หรือตะโกนว่าช่วยด้วย เมื่อเด็กเริ่มเข้าสู่วัยเรียน ช่องโหว่ที่จะทำให้เด็กไม่อยู่ในสายตาพ่อแม่ คือ ที่โรงเรียน ซึ่งเด็กเล็กนั้นโรงเรียนจำเป็นต้องมีมาตรการ เช่น จำกัดการรับส่งเด็ก

เด็กที่ได้รับการปลูกฝังเรื่องคนแปลกหน้า หรือการรับของจากคนแปลกหน้าจะเริ่มเข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้น พ่อแม่จำเป็นต้องเพิ่มเติมทักษะไหวพริบการเอาตัวรอดให้ลูกโดยสอนอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ยกตัวอย่างคำพูดที่อาจเกิดขึ้น หากคนแปลกหน้าจะเข้าใกล้เพื่อหวังหลอกลวง เช่น แม่ให้มารับหรือเอาของให้แล้วบอกว่าเอาไปให้แม่ด้วยกัน เป็นต้น เด็กในวัยโต 6-7 ขวบ จะเริ่มเข้าใจคำเหล่านี้และเรียนรู้ที่จะปฏิเสธได้ พ่อแม่ต้องย้ำว่าหากใครกระทำในลักษณะดังกล่าวให้บอกว่า จะต้องถามพ่อแม่ก่อนหรือพ่อแม่ไม่ให้ไป ต้องรอพ่อแม่ก่อน เป็นต้น

เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เด็กหาย เด็กถูกลักพาตัว หรืออาชญากรรมกับเด็กเกิดขึ้นอีก ข้อระมัดระวังข้างต้นน่าจะพอช่วยเหลือพ่อแม่ผู้ปกครองได้ ทั้งนี้ก็เพื่อผลประโยชน์และความปลอดภัยของเด็กที่ยังมีเวลาอีกมากมายได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี ฉะนั้นอย่าให้ภัยใดๆ เข้ามาเยือน