posttoday

หน้ากากเปลือย เครือข่ายละครผู้เปลี่ยนแปลงสังคม

20 กุมภาพันธ์ 2559

ความสุขจากการให้นั้นช่วยเติมเต็มทั้งผู้ให้และผู้รับ ไม่ว่าจะให้ด้วยรูปแบบใดก็ตาม ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแต่การให้เงิน

โดย...อณุสรา ทองอุไร-ศศิธร จำปาเทศ

ความสุขจากการให้นั้นช่วยเติมเต็มทั้งผู้ให้และผู้รับ ไม่ว่าจะให้ด้วยรูปแบบใดก็ตาม ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแต่การให้เงิน หรือให้สิ่งของเท่านั้น ที่สำคัญไม่มีจำกัดสำหรับสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น การเปลี่ยนแปลงสังคมสามารถทำได้หลากหลายวิธี หากเลือกกิจกรรมที่เหมาะสม สื่อสารให้เข้าถึงชุมชนได้ก็จะเพิ่มศักยภาพให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ผลดีขึ้น และละครถือเป็นสื่อที่จะสามารถเข้าถึงอารมณ์จิตใต้สำนึกของคนได้อย่างดี

กว่า 12 ปี ที่ผู้มีใจรักศิลปะการละครรวมตัวกันเป็นเครือข่ายละครหน้ากากเปลือยพวกเขาเหล่านั้นล้วนมีส่วนร่วมในการสร้างกระบวนการละครให้กับโรงเรียนต่างๆ ในกรุงเทพฯ ประมาณ 15 โรงเรียน โดยใช้ชื่อว่าละครเยาวชนพลังบวก นินาท บุญโพธิ์ทอง ผู้อำนวยการเครือข่ายละครหน้ากากเปลือย เล่าว่า กลุ่มเครือข่ายละครหน้ากากเปลือยเริ่มใช้กระบวนการละครมาพัฒนาเยาวชน ตั้งแต่ปี 2549 โดยมีสมาชิกในกลุ่มประมาณ 10 คน มาจากศิษย์เก่าของโรงเรียนที่เคยไปสร้างเครือข่ายไว้แล้วที่สนใจเข้าร่วมกลุ่ม บางคนก็เรียนด้านละครทำหน้าที่เป็นวิทยากรให้กับโรงเรียนในเครือข่ายด้วย โดยจะทำงานร่วมกับที่ปรึกษาชุมนุมหรือชมรมในโรงเรียนเครือข่าย ทางกลุ่มจะเข้าไปมีบทบาทในการสนับสนุนกระบวนการผลิตละคร ตลอดจนวิธีการจัดการซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะของละคร เช่น ละครโรงใหญ่ที่ผู้ชมต้องเข้ามาในสถานที่ หรือละครชุมชนที่ต้องออกไปแสดงในชุมชน

หน้ากากเปลือย เครือข่ายละครผู้เปลี่ยนแปลงสังคม

 

สำหรับเนื้อหาของละครเยาวชนจะเป็นคนสร้างขึ้นเองหรือบางครั้งก็ตั้งโจทย์ขึ้นมาเช่น โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ตั้งโจทย์พัฒนาบทละครจากวรรณกรรม หรือบางเรื่องมีการอบรมก่อนแล้วจึงตั้งโจทย์ บางโรงเรียนนำวิชาที่เรียนมาบูรณาการกับละครทำให้เรียนรู้ได้เร็วขึ้น เพราะรู้สึกว่าการสวมบทบาทนั้นไม่ได้เป็นการบังคับ แต่ออกมาจากการแสดงผ่านตัวละครซึ่งจดจำได้ง่ายและสนุก ซึ่งแยกกระบวนการออกเป็นก่อนผลิตละคร กระบวนการผลิต จนถึงช่วงการซ้อมละคร

“ระหว่างกระบวนการทำละครจะทำให้แต่ละคนรู้จักคิดและแก้ปัญหา สามารถวิเคราะห์พร้อมลงมือทำซึ่งเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝน ละครจะฝึกการคิดและลงมือทำอย่างรวดเร็ว หากมีผลผิดพลาดก็จะเกิดการเรียนรู้ใหม่ ผู้สวมบทตัวละครต้องศึกษาตัวละครหาสาเหตุการกระทำให้เข้าใจก่อนที่จะสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจได้ ทำให้เราเข้าใจตัวเอง เข้าใจผู้อื่น เข้าใจบริบทของสังคม เพื่อให้เข้าถึงเนื้อหา ละครยังทำให้เราเชื่อมั่นสิ่งที่เรากำลังจะพูดอีกด้วย” นินาทกล่าวให้ฟัง

หน้ากากเปลือย เครือข่ายละครผู้เปลี่ยนแปลงสังคม

 

นอกจากนี้ ละครเวทียังช่วยสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันในสังคมที่มีความหลากหลาย ทำให้เรารู้พื้นฐานความแตกต่างของแต่ละพื้นที่ซึ่งมีอิทธิพลต่อความคิดที่ของชุมชนเหล่านั้น “เมื่อเราเข้าใจว่าทำไมเขาถึงทำอย่างนั้น เราจะต้องหาจุดที่จะลงตัวเข้าหากัน คือ การทำงานร่วมกันในสังคม ช่วยเปิดจิตสำนึกได้ ละครสามารถนำไปเป็นเครื่องมือในการรณรงค์ สร้างพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อป้องพื้นที่เสี่ยง เช่น โรงเรียนศรีอยุธยาและโรงเรียนสันติราชวิทยาลัยก็ทำละครให้กับชุมชนรอบข้างโรงเรียน ทำให้เยาวชนใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ไม่เข้าไปในพื้นที่เสี่ยง ไม่ไปยุ่งกับยาเสพติดละครก็เป็นเครื่องมือที่จะดึงเด็กๆ ในชุมชนเข้ามาร่วมกิจกรรมไม่เข้าไปในพื้นที่เสี่ยง แต่ละพื้นที่จะเอาไปใช้พัฒนาได้ ละครจะมีความสนุกอยู่แล้ว และก็ดึงดูดให้คนมาร่วมกิจกรรม สามารถสื่อสารเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายใช้เวลาอย่างสร้างสรรค์” เขากล่าวด้วยความตั้งใจ

ละครเวทีนำมาใช้เป็นเครื่องมือเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างดี ทั้งต่อตัวเยาวชนผู้ผลิตละครและต่อชุมชนที่ได้ชมละคร กระบวนการที่เกิดจากการทำละครจะช่วยสร้างแก่นนำในระดับชุมชน ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่เกิดความรักหวงแหน พร้อมที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ในพื้นที่ได้ต่อไป

สนใจติดต่อโทร. 08-0281-1698 หรือเฟซบุ๊กหน้ากากเปลือย แผนเยาวชน