posttoday

ศธ.ประสานทุกฝ่ายแก้ปัญหาออกข้อสอบพลาด

10 กุมภาพันธ์ 2559

รมช.ศึกษาธิการเผยเตรียมประสานทุกฝ่าย หามาตรการจัดการปัญหาออกข้อสอบวัดผลผิดพลาด แจงข้อสอบที่ถูกแชร์ไม่ได้ใช้ในปี58ทั้งหมด

รมช.ศึกษาธิการเผยเตรียมประสานทุกฝ่าย หามาตรการจัดการปัญหาออกข้อสอบวัดผลผิดพลาด แจงข้อสอบที่ถูกแชร์ไม่ได้ใช้ในปี58ทั้งหมด

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จะประสานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หามาตรการจัดการปัญหาการออกข้อสอบวัดผล ตามที่ได้มีการเผยแพร่ข้อติติงเรื่องการออกข้อสอบการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน(โอเน็ต) ทางสังคมออนไลน์ และย้ำว่า ความผิดพลาดจะไม่เกิดขึ้นอีก

อย่างไรก็ตาม พบว่า ข้อสอบที่เผยแพร่นั้น เป็นข้อสอบโอเน็ตของหลายๆ ปีรวมกัน ไม่ใช่ข้อสอบโอเน็ตที่ใช้สอบในปีการศึกษา2558 ทั้งหมด มีเพียงข้อสอบวิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ที่ถามเกี่ยวกับกฎหมายไทยข้อเดียวเท่านั้นที่เป็นข้อสอบโอเน็ตปีนี้

นพ.ธีระเกียรติกล่าวว่า การออกข้อสอบผิดพลาดหรือไม่ตรงตามจุดประสงค์ของการทดสอบ เป็นปัญหาเรื้อรัง ที่เกิดขึ้นซ้ำซากหลายยุคหลายสมัย จึงถึงเวลาที่จะต้องเข้าไปดูเลจัดการปัญหาเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ โดยมีความเห็นใจ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.)ซึ่งมีบุคลากรในการทำงานไม่มาก

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าในภาพรวมข้อสอบของ สทศ. ค่อนข้างยาก โดยเฉพาะเมื่อดูผลสอบวิชาสามัญ 9 วิชา ที่เพิ่งประกาศผลไปล่าสุด พบว่าแต่ละวิชาเด็กได้คะแนนต่ำมาก เฉลี่ยอยู่ที่ 20-30 คะแนนเท่านั้น มีเพียงวิชาภาษาไทยที่ได้คะแนนเกินครึ่งวิชาเดียว ซึ่งการออกมาชี้แจงครั้งนี้ คงไม่ได้มาแก้ตัวอะไร แต่จะต้องมีการปรับปรุงทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำคือการกำหนดมาตรฐานหลักสูตร กลางน้ำ การจัดการเรียนการสอน และปลายน้ำคือการวัดประเมินผล

"การที่คะแนนเฉลี่ยเด็กไทยตกต่ำนั้น ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้ แต่เป็นปัญหาเรื้อรังที่สะสมมานาน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันวิเคราะห์ว่าเกิดความผิดพลาดจากจุดใด และจากการวิเคราะห์ในเบื้องต้นพบว่า ปัญหาส่วนหนึ่งอยู่ที่การเขียนมาตรฐานหลักสูตรที่มีขอบเขตกว้างขวาง ไม่มีรายละเอียดชัดเจน ส่งผลต่อการออกข้อสอบที่บางครั้งคำถามไม่ชัดเจน ดังนั้นหลังจากนี้ผู้รับผิดชอบการเขียนหลักสูตรต้องไปปรับปรุง และการสอบทุกชนิด จะต้องมีการเปิดเผยสเปค และรายละเอียดของข้อสอบทั้งหมดว่าจะสอบเรื่องอะไร แบบไหน อย่างไร พร้อมยกตัวอย่างข้อสอบ ให้เด็กได้ทราบล่วงหน้า ไม่ใช่ให้เด็กต้องมาเซอร์ไพรส์ในวันสอบ ขณะเดียวกัน สทศ.ต้องประเมินความยากง่ายของข้อสอบก่อนสอบ ไม่ใช่ประเมินหลังสอบ" นพ.ธีระเกียรติ กล่าว

นายสัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสทศ. กล่าวว่า การตรวจสอบในเบื้องต้น พบว่า ข้อสอบโอเน็ตชั้น ม.6 ที่จัดสอบ เมื่อวันที่ 6-7 ก.พ.2559 ยังไม่มีข้อใดผิดพลาด ส่วนข้อสอบวิชาสังคมฯ ที่มีการเผยแพร่ในสังคมออนไลน์ ก็ไม่ตรงกับคำถามจริงในข้อสอบ ซึ่งเด็กอาจจะจำมาไม่ครบ เมื่อนำมาเผยแพร่ก็อาจทำให้มีการตีความผิดพลาดได้ โดยในสังคมออนไลน์ ถามว่า “ข้อใดไม่ใช่กฎหมายไทย” ขณะที่คำถามจริงถามว่า “ข้อใดต่อไปนี้ผู้กระทำไม่ต้องรับผิดตามกฎหมายไทย” ซึ่งคำตอบที่ถูกต้องมีเพียงข้อเดียวคือ ข้อ 5 ที่ตอบว่า “นายเดือนหมิ่นประมาทชาวไทยด้วยกันในขณะท่องเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่น” เพราะถือเป็นความผิดที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ต้องใช้กฎหมายในประเทศญี่ปุ่น

ทั้งนี้ สำหรับข้อสอบวิชาสามัญ 9 วิชา ขอชี้แจงว่าเป็นข้อสอบที่ใช้ในการคัดเลือกบุคคลเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยในระบบรับตรง จึงต้องมีความยากกว่าข้อสอบโอเน็ต และยอมรับว่า ข้อสอบวิชาสามัญ 9 วิชาปีนี้ ยากกว่าปกติ มีอำนาจในการจำแนกต่ำ จึงทำให้คะแนนเฉลี่ยออกมาต่ำ อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ สทศ. จะต้องไปพัฒนาข้อสอบ ให้มีความยากที่เหมาะสม ไม่ยากหรือง่ายเกินไป และสามารถคัดเด็กเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ตรงตามความต้องการของแต่ละคณะและไม่มีปัญหาด้านการเรียนในระดับที่สูงขึ้น