posttoday

ร้องดีเอสไอรับคดี"โครงการออมทรัพย์ที่อยู่อาศัยฯ" เป็นคดีพิเศษ

28 มกราคม 2559

ชาวบ้านร้อง ดีเอสไอ รับคดี "โครงการออมทรัพย์ที่อยู่อาศัยวันละ 40 บาท" เป็นคดีพิเศษ หลังเป็นหนี้เฉลี่ยคนละประมาณ 3-8 แสนบาท

ชาวบ้านร้อง ดีเอสไอ  รับคดี "โครงการออมทรัพย์ที่อยู่อาศัยวันละ 40 บาท" เป็นคดีพิเศษ หลังเป็นหนี้เฉลี่ยคนละประมาณ 3-8 แสนบาท

เมื่อวันที่ 28 ม.ค. เวลา 10.00 น.ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายประสิทธิ์ ป้อกระโทก ผู้ตรวจสอบกิจการสหกรณ์เคหะสถานเมืองโคราช จำกัด พร้อมด้วยนายเอกชัย ไชยชีวสุข ผู้แทนผู้ชำระบัญชี สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนบ้านมั่นคง-จังโหลน จำกัด และตัวแทนชาวบ้านกว่า 30 คน จาก จ.นครราชสีมา และ จ.สงขลา เดินทางเข้าพบ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.ศูนย์บริหารคดีพิเศษ เพื่อขอความเป็นธรรมหลังได้รับความเดือดร้อนกรณีซื้อบ้านที่อยู่อาศัยในโครงการออมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยวันละ 40 บาท

นายประสิทธิ์ กล่าวว่า ในวันนี้สมาชิกสหกรณ์ทั้ง 2 แห่ง เดินทางมาเพื่อขอความช่วยเหลือ หลังนายประวิง รอดทะเล อดีตประธานกรรมการผู้บริหารทุจริตเงินรวม 2,000 ล้านบาท ซึ่งเรื่องเกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว โดยทางชาวบ้านได้นำเอกสารเข้าร้องเรียนไปหลายหน่วยงาน เช่น สำนักนายกรัฐมนตรี กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ฯลฯ ในส่วนของดีเอสไอยังไม่เคยมาร้องเรียน ทั้งนี้ แต่ยอมรับว่าทางศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษภาค 9 ดีเอสไอ ได้ส่งเจ้าหน้าที่บางส่วนไปตรวจสอบบ้างแล้ว โดยพบว่าเอกสารยังไม่เพียงพอ จึงทำให้ดีเอสไอยังไม่รับเป็นคดีพิเศษ

นายประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ทำให้การเดินทางมาในวันนี้เป็นการยื่นเอกสารเพิ่มเติม ซึ่งตนอยู่ที่ จ.นครราชสีมา สมาชิกเก็บเงินฝากกับสหกรณ์เคหะสถานเมืองโคราช จำกัด ยอดรวมประมาณ 784 ล้านบาท แต่กลับสร้างบ้านได้เพียง 800 หลังคาเรือน นอกจากนี้ เมื่อตรวจสอบจำนวนยอดเงินพบว่า เงินจำนวนครึ่งหนึ่งหายไป จึงทำให้สมาชิกรับภาระหนี้ทั้งหมด

ด้าน นายเอกชัย กล่าวว่า สำหรับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนบ้านมั่นคงไทย-จังโหลน จำกัด ในพื้นที่ จ.สงขลา สมาชิกได้ยื่นเรื่องกับทางศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษภาค 9 แล้ว และตอนนี้ถือว่าได้รับความเดือดร้อนอย่างมากเพราะสหกรณ์ถูกสั่งปิด ไม่สามารถดำเนินการได้ จึงขอให้ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษด้วย เนื่องจากมีการกระทำผิดลักษณะเดียวกัน ขณะนี้ทุกคนได้รับความเดือดร้อนเพราะสหกรณ์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ซึ่งปล่อยสินเชื่อให้สมาชิกทั้ง 2 สหกรณ์จะเรียกเก็บเงินบางส่วนแล้ว โดยสมาชิกเป็นหนี้เฉลี่ยคนละประมาณ 3-8 แสนบาท ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะบ้านที่เลือกในโครงการดังกล่าว

ขณะที่ พ.ต.ต.วรณัน กล่าวว่า หลังจาก ดีเอสไอ ได้รับเรื่องร้องเรียนของสมาชิกทั้ง 2 สหกรณ์พบว่าคดีนี้มีการทุจริตและเชื่อมโยงกัน ซึ่งคณะอนุกรรมการเคยรับเรื่องไว้แล้ว 1 ครั้งเมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฎว่าระบบเส้นทางการเงินยังไม่สมบูรณ์จะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง โดยทาง ดีเอสไอ ตระหนักถึงความเดือดร้อนของชาวบ้านและให้หน่วยงานที่มีอำนาจโดยตรงไปดำเนินการต่อ ส่วนการตรวจสอบการกระทำผิดจะเริ่มตั้งแต่ในประเด็นการจัดตั้งโครงการออมทรัพย์ดังกล่าวเพื่อระดมทุนซื้อที่ดิน ทั้ง 2 แห่ง เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ในชั้นต้นจะดูความผิดเกี่ยวกับ กฎหมายสหกรณ์ และ คดีอาญาข้อหาฉ้อโกงประชาชนกับผู้ที่เกี่ยวข้อง