posttoday

"อียู"พบ"ไทย"แนะทางแก้ประมงผิดกฏหมาย

22 มกราคม 2559

คณะผู้แทนสหภาพยุโรปเข้าพบพล.อ.ประวิตรโดยฝ่ายไทยได้ชี้แจงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฏหมาย

คณะผู้แทนสหภาพยุโรปเข้าพบพล.อ.ประวิตรโดยฝ่ายไทยได้ชี้แจงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฏหมาย

พล.ต.คงชีพ  ตันตระวาณิชย์ โฆษก กห. กล่าวว่า เมื่อ 22 ม.ค.59 เวลา 09.00 น. นาย Cesar Deben ที่ปรึกษา IUU Fishing และคณะผู้แทนฝ่ายสหภาพยุโรป (EU) เข้าเยี่ยมคำนับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นรม. และ รมว.กห. ณ ศาลาว่าการกลาโหม  ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายร่วมกัน โดยรองนรม.และรมว.กห. ได้รายงานให้ทราบถึงความพยายามและความคืบหน้าของไทยต่อการแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งคณะผู้แทน EU ได้กล่าวขอบคุณ และเห็นถึงความก้าวหน้าที่มีพัฒนาการไปในทางที่ดีและเป็นตามหลักสากลมากขึ้น ทั้งทางด้านกฎหมาย การดำเนินนโยบายใหม่ ๆ และความร่วมมือกับนานาประเทศ ทั้งนี้คณะผู้แทน EU ได้เสนอและให้คำแนะนำที่สำคัญ ดังนี้

การให้ความคุ้มครองการทำประมงในระยะ 12 ไมล์ทะเล : โดยเสนอให้มีการหารือร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับชาวประมงท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการทำประมงที่ถูกต้อง

การบังคับใช้กฎหมายประมง : เสนอให้จัดทำกฎหมายให้ชัดเจนที่ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตาม และควรบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยให้มีการแยกคดีเป็นกลุ่มประเภทต่าง ๆ พร้อมทั้งเสนอให้มีการต่อต้าน (Sanction) จากภาคประชาสังคม ต่อการทำประมงและผลิตภัณฑ์ที่ได้มาอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

การควบคุมกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ที่ได้จากประมง : ไทยมีความร่วมมือกับทุกภาคส่วนดีอยู่แล้ว จึงเสนอให้ได้มีการส่งสัญญาณดังกล่าวไปยังนานาชาติ เพื่อสร้างการรับรู้ต่อการดำเนินการของไทย

การพัฒนาสวัสดิภาพแรงงาน : ที่ผ่านมาได้มีการหารือกับ รมว.แรงงาน  มีผลการพัฒนาสวัสดิภาพแรงงานประมงไทยทั้งระบบดีขึ้น จึงอยากเสนอให้มีการพัฒนาสวัสดิภาพแรงงานด้านอื่นๆควบคู่กัน และขอให้มีมาตรการตรวจสอบการเข้า-ออกของเรือประมงจากท่ามากขึ้น เพื่อพัฒนาสวัสดิภาพแรงงานประมงบนเรือด้วย

ปัญหาการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมง : เสนอให้มีมาตรการดูแลเรือ บริษัท/เจ้าของเรือ โดยเฉพาะเรือประมงนอกน่านน้ำไกล ๆ ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายสากล  ไทยควรมีความชัดเจนว่าไม่สนับสนุนเรือของบริษัทที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายสากล พร้อมกับส่งสัญญาณให้นานาชาติทราบด้วย ขณะเดียวกัน ขอให้ไทยเร่งแก้ปัญหา โดยเร่งกวดขันและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังกับการใช้แรงงานผิดกฎหมายในโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำที่ยังมีอยู่

นาย Cesar Deben กล่าวตอนท้ายว่า  “คณะผู้แทน EU สนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายใหม่ๆ ของไทย ที่ส่งผลต่อพัฒนาการแก้ปัญหาที่ดีขึ้นและจะให้ความร่วมมือกับไทยต่อไป ซึ่งการแก้ปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ถือเป็นความท้าทายของไทยและนานาชาติที่ต้องร่วมมือกันและหวังว่าคงได้เห็นความชัดเจนถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาของไทยในอนาคต”
พล.อ.ประวิตร  วงษ์สุวรรณ รอง นรม. และ รมว.กห. ได้กล่าวขอบคุณ สำหรับคำแนะนำพร้อมกับกล่าวในภาพรวมว่า “การแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ถือเป็นวาระเร่งด่วนที่รัฐบาลให้ความสำคัญเพื่อแก้ปัญหาฐานรากของการทำประมงไทยให้ถูกต้องและได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ โดยคำนึงถึงความยั่งยืนเป็นสำคัญ  โดยขอให้เชื่อมั่นว่า รัฐบาลไทยและทุกภาคส่วนของสังคมให้ความสำคัญกับความพยายามทำงานต่อเรื่องดังกล่าวอย่างเต็มที่ โดยยึดมั่นต่อ 1) การปฏิบัติตามหลักกฎหมายสากล 2) การปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะผู้แทน EU 3) การปฏิบัติและการบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศของไทย ขณะเดียวกันเราก็ได้พยายามสร้างการรับรู้และความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง ต่อการดำเนินงานร่วมกันทั้งในและต่างประเทศ  จึงขอเวลาให้เราได้ทำงาน ซึ่งเราจะทำและทำต่อไปเพื่อให้เราสามารถปรับเปลี่ยนสู่การทำประมงที่ถูกกฎหมายอย่างยั่งยืนและได้รับการยอมรับจากนานาชาติในที่สุด”