posttoday

‘แฮปปี้ ดอลล์ส’ ตุ๊กตาตัวแทนความรัก

16 มกราคม 2559

กลุ่มจิตอาสาจำนวน 200 คน จากสมาชิกหลัก 2,000 คนที่ไปคลิกไลค์ที่แฟนเพจแฮปปี้ ดอลล์ส

โดย...มีนา

กลุ่มจิตอาสาจำนวน 200 คน จากสมาชิกหลัก 2,000 คนที่ไปคลิกไลค์ที่แฟนเพจแฮปปี้ ดอลล์ส กำลังขะมักเขม้นกับการตัดเย็บตุ๊กตารูปร่างน่ารัก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Happy Dolls Project  นำโดย ลักษณ์-นงลักษณ์ พิทักษ์ธรรมนาถ เจ้าของโครงการ Happy Dolls ที่มักนัดรวมตัวกันของกลุ่มคนที่มีจิตอาสาทำเพื่อผู้อื่น ซึ่งดำเนินโครงการมานานกว่า 8 ปีแล้ว นงลักษณ์ เล่าถึงแรงบันดาลใจในการตั้งกลุ่มนี้ขึ้นมาว่า เดิมทีเธอทำงานบริษัทเหมือนคนทั่วๆ ไป แต่วันหนึ่งเธอคิดว่าน่าจะหันมาทำงานที่ตนเองรักและมีความสุข นั่นคืองานเย็บปักถักร้อย และเธอถามตนเองว่าแล้วอะไรล่ะที่เป็นงานชอบที่สุด คำตอบก็คือ งานเย็บตุ๊กตา เพราะตุ๊กตาเป็นสิ่งที่น่ารักและเป็นงานที่เธอไม่เคยทำมาก่อน เธอจึงเริ่มลงมือร่างแบบเอง และลงมือเย็บเอง ปรับเปลี่ยนรูปแบบจนได้เป็นตุ๊กตา Happy Dolls ในปัจจุบัน

“งานเย็บตุ๊กตาเป็นงานที่เราทำแล้วมีความสุข เราได้คุยกับตุ๊กตา เพราะเราเย็บต้นแบบเป็นตุ๊กตา 2 ตัว เราก็ไปเช็กความสุขจากเด็กข้างบ้านวัย 7 ขวบ ว่าชอบตุ๊กตาของเราไหม ปรากฏว่าเด็กชอบมาก เราจึงขยายต่อ ประกอบกับดิฉันเคยทำงานเอ็นจีโอมาก่อน จึงอยากช่วยเหลือผู้อื่น เราจึงเริ่มเย็บตุ๊กตาออกมาเพื่อแจกเด็กในช่วงวันเด็กปี 2553 จำนวน 50 ตัวดิฉันไปหาซื้อผ้าเองเย็บเอง และนำตุ๊กตาทั้ง 50 ตัวไปมอบให้เด็กชาวเขา จ.เชียงราย ในช่วงวันเด็ก ซึ่งเด็กๆ ก็ชอบมาก” เมื่อได้เสียงตอบรับที่ดีจึงต้องการอาสาสมัครมาช่วยเย็บตุ๊กตา เพราะทำคนเดียวไม่ไหว จึงร่วมกับมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม เพราะอยากเย็บตุ๊กตาให้ได้ถึง 200 ตัว จาก 200 อาสาสมัครและขยายไปทำโครงการฉลาดทำบุญ

‘แฮปปี้ ดอลล์ส’ ตุ๊กตาตัวแทนความรัก

 

ล่าสุดที่มีการรวมตัวกันทำกิจกรรม คือ ที่หอศิลป์กรุงเทพฯ เนื่องในวันเด็กแห่งชาติที่ผ่านมาอีกด้วย  โครงการ Happy Dolls จึงถือเป็นการรวมพลังจิตอาสาร่วมเย็บตุ๊กตาเพื่อมอบเป็นกำลังใจให้กับผู้ป่วยเรื้อรังที่พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล เพื่อเป็นการส่งกำลังใจผ่านตุ๊กตาให้น้องๆ ต่อสู้กับความเจ็บป่วย Happy Dolls จึงเหมือนเป็นสื่อกลางความเป็นเพื่อน เป็นผู้ช่วยบรรเทาความรู้สึกเจ็บปวดจากโรคและการรักษาที่อาจได้รับ เนื่องจากปริมาณเด็กป่วยเรื้อรังในปัจจุบันมีมากขึ้น ซึ่งทำให้ทางโรงพยาบาลต่างๆ แสดงเจตจำนงในการขอตุ๊กตา Happy Dolls เพื่อเป็นเพื่อนกับเด็กๆ มากขึ้น ผู้นำกลุ่มจึงต้องรวบรวมพลอยู่เรื่อยๆ เฉลี่ย 2 ครั้ง/เดือน หรือ 24 ครั้ง/ปี ช่วยกันเย็บตุ๊กตาคนละไม้ละมือ

“ปีหนึ่งเราทำกิจกรรมไม่เกิน 24 ครั้ง เพื่อควบคุณภาพของงานเย็บตุ๊กตา ครั้งหนึ่งๆ พอเย็บตุ๊กตาได้ครั้งละประมาณ 200 ตัว เราจะนำไปเก็บไว้ในธนาคารตุ๊กตาของเรา เพื่อรอไปมอบให้เด็กๆ ด้อยโอกาสตามสถานที่ต่างๆ ที่เขาต้องการตุ๊กตาจริงๆ เช่น เด็กด้อยโอกาส เด็กอยู่ท่ามกลางสงครามหรือเด็กป่วยเรื้อรัง เพื่อให้ตุ๊กตาเป็นเพื่อนเป็นกำลังใจให้เขาบนเตียง เพื่อเป็นกำลังใจให้เด็กๆ เหล่านี้ 

‘แฮปปี้ ดอลล์ส’ ตุ๊กตาตัวแทนความรัก

 

ทำกิจกรรมมาเกือบ 8 ปี ก็มีผู้ใหญ่ใจดีร่วมสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์การทำตุ๊กตาจากองค์กรต่างๆ เช่น กฟผ. แผนกขายของบริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย บริษัท มี๊ด จอห์นสัน บริษัท คอมพิวเตอร์ยูเนี่ยน สมาชิกจากบริษัท อนันดาดีเวลลอปเม้นท์ (IDEO Condo) ฯลฯ ผ่านกิจกรรมกับพนักงานโดยมีการแจกจ่ายไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เช่น โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลเด็ก (สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี) โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลในพื้นที่ต่างจังหวัด เช่น โรงพยาบาลสุโขทัย โรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จ.เชียงราย เป็นต้น

กิจกรรมนี้ นงลักษณ์ กล่าวว่า เปิดกว้างสำหรับทุกท่าน โดยไม่จำเป็นต้องมีทักษะพิเศษในการเย็บปักถักร้อย ซึ่งทุกครั้งที่โพสต์เปิดรับอาสาสมัครผ่าน www.happydollsproject.com หรือเฟซบุ๊ก www.facebook.com/happydollsproject ก็จะมีสมาชิกทั้งเก่าและใหม่ที่บอกต่อๆ กันมายื่นความจำนงอยากเข้าร่วมมากมาย และเต็มในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งข่าวสารต่างๆ หากโครงการต้องการจิตอาสาก็จะโพสต์ไว้ในเว็บไซต์หรือเฟซบุ๊กของกลุ่มเป็นประจำ ใครสนใจหมั่นแวะเข้าไปดูบ่อยๆ เฉลี่ยเดือนละ 2 ครั้ง

‘แฮปปี้ ดอลล์ส’ ตุ๊กตาตัวแทนความรัก