posttoday

สพฉ.ห่วงครูป่วยเป็นโรคหัวใจ

16 มกราคม 2559

สพฉ.เผยสถิติผู้ป่วยโรคหัวใจปี58นำส่งห้องฉุกเฉินกว่า15,268 ราย ในจำนวนนี้มีอาชีพครูรวมอยู่ด้วย

สพฉ.เผยสถิติผู้ป่วยโรคหัวใจปี58นำส่งห้องฉุกเฉินกว่า15,268 ราย ในจำนวนนี้มีอาชีพครูรวมอยู่ด้วย

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าวว่า  จากข้อมูลสถิติที่เก็บรวบรวมในปีพ.ศ. 2558 ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติระบุว่าในปีพ.ศ. 2558 นั้นได้มีการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินอายุระหว่าง 20-60 ปีด้วยอาการเจ็บแน่นทรวงอก หัวใจมากถึง 15,268 ราย โดยอาชีพครูก็รวมอยู่ในช่วงอายุเหล่านี้ด้วย

ดังนั้น การดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากโรคหัวใจจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ สำหรับสาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจนั้นเป็นผลจากวิถีการดำเนินชีวิต ที่มีปัจจัยเสี่ยงเช่นการรับประทานอาหารที่ไม่สมดุลกับการออกกำลังกาย มีกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง การทำงานนั่งโต๊ะ มีความเครียด และพักผ่อนไม่เพียงพอ ประกอบกับการสูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ส่งผลให้คนเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดกันมากขึ้น

 นพ.อนุชา กล่าวต่อว่า ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจสามารถสังเกตอาการของตนเองได้ดังนี้ เมื่อท่านมีอาการเจ็บแน่น จุกเสียดที่หน้าอกหรือท้องส่วนบน หรือมีอาการแน่นเหนื่อยขึ้นมาทันที ร่วมกับอาการหายไจไม่สะดวก หอบเหนื่อย คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ หรือบางรายอาจมีอาการปวดไหล่ซ้ายมากกว่าไหล่ขวา จุกแน่นที่ท้อง จนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคกระเพาะ นอกจากนี้อาจเจ็บ หลังจากออกกำลังกายหรือเครียด แต่เมื่อหยุดพักจะหาย  ซึ่งเมื่อมีอาการดังกล่าว ให้รีบนั่งลง พักกายและใจทันที อย่าตื่นเต้นโวยวาย เพราะการใช้แรงจะทำให้เจ็บมากยิ่งขึ้น จากนั้นโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ สำหรับผู้ป่วยที่รู้ว่าเป็นโรคดังกล่าวจะต้องรีบอมยาใต้ลิ้นเพื่อบรรเทาอาการ

“หากรีบแจ้งสายด่วน 1669 ให้เข้าช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีจะสามารถต่อลมหายใจกับผู้ป่วยฉุกเฉินด้วยอาการโรคหัวใจได้ ดังนั้นคุณครูเองควรหมั่นสังเกตอาการของตนเองเมื่อพบว่ามีความเสี่ยงควรรีบเข้าไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรักษา  ส่วนคนใกล้ชิดก็ควรหมั่นสังเกตอาการของผู้ปกครองหรือคนใกล้ชิดของเราด้วยว่าเข้าข่ายการเจ็บป่วยด้วยโรคนี้หรือไม่ ทั้งนี้ปัจจุบันการรักษาภาวะหลอดเลือดหัวใจได้ก้าวหน้ามาก และสามารถลดอัตราการเสียชีวิตและพิการลงได้ หากผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจได้รับการรักษาที่ทันเวลาคือภายใน 3 ชั่วโมงหลังจากเกิดอาการ โดยแพทย์จะรักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือด หรือ “สวนเส้นหัวใจ” ดังนั้นหากประชาชนได้รับทราบข้อมูลและรีบแจ้งขอความช่วยเหลือทางการแพทย์เมื่อเจ็บป่วยฉุกเฉินด้วยอาการโรคหัวใจก็จะเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตให้ผู้ป่วยฉุกเฉินมากขึ้นด้วย”เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าว