posttoday

สภาวิศวกรเผยเหตุเครนสร้างสะพานถล่มจากชิ้นส่วนเหล็กที่ฐานหลุด

11 มกราคม 2559

สภาวิศวกรร่วมวสท.เล็งนัดผู้เกี่ยวข้องถกมาตรการป้องกันการก่อสร้างแบบใช้ชิ้นส่วนสำเร็จรูปหลังเหตุก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำถล่มที่พระนครศรีอยุธยา

สภาวิศวกรร่วมวสท.เล็งนัดผู้เกี่ยวข้องถกมาตรการป้องกันการก่อสร้างแบบใช้ชิ้นส่วนสำเร็จรูปหลังเหตุก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำถล่มที่พระนครศรีอยุธยา

นายอมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร เปิดเผยในโอกาสที่สภาวิศวกรร่วมกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) จัดแถลงข่าวกรณีเครนก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาถล่ม ว่า สภาวิศวกร จะร่วมกับวสท. เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กรุงเทพมหานคร กรมโยธาธิการและผังเมือง บริษัทรับเหมาก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับการรับเหมาก่อสร้างสะพาน มาสัมมนาร่วมกัน วันที่ 25 ม.ค. นี้ ที่ อาคาร วสท.

ทั้งนี้ เพื่อทบทวนการก่อสร้างในรูปแบบ พรีแคส เซกเมนส์ หรือ ชิ้นส่วนสำเร็จรูป และกำหนดแนวทาง มาตรการระบบตรวจสอบที่ใช้ในปัจจุบันว่าถูกต้องแค่ไหน โดยจะดำเนินการคู่ขนานไปกับการตรวจสอบสาเหตุกรณีเครนก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาถล่ม

ขณะที่เมื่อวันที่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา สภาวิศวกร และวสท. ได้ร่วมกันลงพื้นที่เกิดเหตุในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพื่อตรวจสอบ ตั้งข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่า สาเหตุที่เครนร่วงลงมา อาจเกิดจากการหลุดของหูช้างเหล็กที่ใช้เป็นฐานรองรับเครนขณะกำลังยกติดตั้งชิ้นส่วน โดยหูช้างเหล็กนั้นหลุดได้อย่างไร คงต้องรอวิเคราะห์สาเหตุและตรวจสอบรายละเอียดต่อไป เพราะเกิดได้จากหลายปัจจัย

ตัวอย่างปัจจัยที่ทำให้หูช้างหลุด ได้แก่ การออกแบบรอยต่อที่ยึดหูช้างเหล็กกับเสาเพียงพอหรือไม่ 2.วัสดุที่ใช้ยึด เช่น ท่อนเหล็ก shear pin มีกำลังรับน้ำหนักเพียงพอหรือไม่ 3.วัสดุที่ใช้จริงเป็นไปตามที่ออกแบบหรือมาตรฐานหรือไม่ 4.มีขั้นตอนการควบคุมคุณภาพระหว่างก่อสร้าง เช่น ควบคุมแรงดึงในท่อนเหล็กอัดแรงหรือไม่ ซึ่งสภาวิศวกรยังไม่สรุปประเด็นใดประเด็นหนึ่ง อาจต้องพิจารณาประเด็นเพิ่มเติม เช่น กำลังรับน้ำหนักของตัวเครนว่าเพียงพอหรือไม่ เพื่อวิเคราะห์และตรวจสอบปัญหาให้รอบด้าน

ขณะเดียวกันการก่อสร้างสะพานที่เกิดเหตุ เป็นสะพานมีความยาวช่วงเกิน 10 เมตร เข้าข่ายเป็นงานวิศวกรรมควบคุม ยิ่งเป็นสะพานที่มีความช่วงเกิน 12 เมตร ต้องใช้วิศวกรที่มีใบอนุญาตระดับสามัญวิศวกร สาขาวิศวกรรมโยธาขึ้นไป เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างให้เป็นไปตามหลักปฏิบัติและหลักวิชาการ ซึ่งสภาวิศวกรได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมทางหลวงชนบท ในฐานะเจ้าของโครงการ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมขอข้อมูลและเอกสารหลักฐานของวิศวกรที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานในโครงการนี้แล้ว