posttoday

เด็กไทยซ้อนท้ายใส่หมวก

02 มกราคม 2559

เข้าสู่เทศกาลปีใหม่คงเป็นช่วงที่ใครหลายๆ คนมีความสุข แต่ในอีกด้านของช่วงปีใหม่ที่ทุกคนไม่สามารถมองข้ามได้

โดย...กองบรรณาธิการ

เข้าสู่เทศกาลปีใหม่คงเป็นช่วงที่ใครหลายๆ คนมีความสุข แต่ในอีกด้านของช่วงปีใหม่ที่ทุกคนไม่สามารถมองข้ามได้ ก็คือเรื่องอุบัติเหตุ ที่เรารู้จักกันดีว่า “ช่วง 7 วันอันตราย” ที่แต่ละปีมีบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายร้อยคน โดยหนึ่งยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด คือ “มอเตอร์ไซค์”

อย่างไรก็ตาม หากพูดถึงเรื่องอุบัติเหตุก็คงไม่ได้เกิดเฉพาะในช่วงปีใหม่เท่านั้น แต่อุบัติเหตุนั้นเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ปัจจุบันองค์การอนามัยโลก ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก และพบว่ามีเด็กไทยซึ่งเป็นอนาคตของชาติเด็กเสียชีวิตสูงถึง 2,600 คน/ปี บาดเจ็บและพิการกว่า 7.2 หมื่นคน/ปี ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก และเป็นเรื่องที่ทุกคนไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ เพราะเด็กคืออนาคตของชาติ

ทุกๆ วันมีเด็กวัยเรียนราว 1.3 ล้านคน เดินทางโดยการซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ แต่มีเพียง 7% เท่านั้นที่สวมหมวกกันน็อก องค์การช่วยเหลือเด็ก (Save The Children) จึงเดินหน้ารณรงค์ “เด็กไทยซ้อนท้ายใส่หมวก” โดยใช้ชื่อแคมเปญว่า “The 7% project” เพื่อตอกย้ำให้ทุกคนรู้ว่ามีเด็กไทยสวมหมวกกันน็อกแค่ 7% เท่านั้น เป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องช่วยกันเพิ่มตัวเลขดังกล่าวให้เป็น 100% เพราะเด็กผู้โชคร้ายคนนั้นอาจจะเป็นคนที่เรารู้จักได้

เด็กไทยซ้อนท้ายใส่หมวก

 

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า “การสวมหมวกกันน็อก” ในสังคมไทย แม้ว่าจะมีการรณรงค์กันมานานหลายปี แต่ดูเหมือนว่าช่วงที่คึกคักและได้ผลที่สุด คือตอนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้มงวดกวดขันเอาผิดกับผู้ไม่สวมหมวกกันน็อกเท่านั้น

คนไทยยังไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของหมวกกันน็อกกันอย่างจริงจังแต่อย่างใด เห็นได้จากการที่พ่อแม่พาลูกไปส่งที่โรงเรียน ส่วนใหญ่มักจะไม่ได้สวมหมวกกันน็อกให้กับลูก ในขณะที่แม้พ่อแม่จะสวมเอง แต่ก็จะเป็นเหตุผลเรื่องการกลัวตำรวจมากกว่าเรื่องความปลอดภัย เรียกได้ว่าใส่เพราะ “จำใจ” มากกว่า

เพราะฉะนั้น การรณรงค์เรื่องนี้จึงต้องก้าวไปมากกว่าการแจกหมวกกันน็อก แต่สิ่งที่ต้องไปให้ถึงคือการปลูกฝังในเรื่องความปลอดภัยให้กับเด็กๆ ตั้งแต่ยังเยาว์วัย ให้พวกเขาได้เห็นความสำคัญของหมวกกันน็อก เมื่อต้องเดินทางออกจากบ้าน ไม่ว่าจะเป็นทั้งจักรยานหรือมอเตอร์ไซค์ ก็ต้องสวมหมวกกันน็อกเหมือนในประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยการรณรงค์ดังกล่าวได้ทำขึ้นในโรงเรียนนำร่อง 6 แห่งใน กทม.

เด็กไทยซ้อนท้ายใส่หมวก

 

หนึ่งในนั้น คือ โรงเรียนบางจาก (โกมลประเสริฐอุทิศ) ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่สุดซอย การเดินเข้า-ออก ต้องใช้มอเตอร์ไซค์เท่านั้น เพราะฉะนั้นหมวกกันน็อกจึงสำคัญมากและเปรียบเหมือนเป็นเครื่องแบบของนักเรียนที่นี่ แต่กว่าจะถึงขั้นนั้นต้องมีการทำให้นักเรียนเห็น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็ก-ประถม เห็นภาพว่าหมวกกันน็อก สามารถช่วยชีวิตพวกเขาได้อย่างไร

โดยมีการทำกิจกรรมการให้ความรู้ที่หน้าเสาธง โดยการนำแตงโมมาสองลูก ลูกหนึ่งอยู่ในหมวกกันน็อก อีกลูกเป็นแตงโมเปล่า แล้วทั้งสองลูกปล่อยลงพื้นพร้อมกัน แตงโมที่ไม่มีหมวกกันน็อกจะแตก เปรียบได้กับศีรษะเด็กที่ไม่ได้ใส่หมวกนิรภัย ซึ่งทำให้เด็กชะงักและเกิดความกลัวขึ้นมาทันทีว่าถ้าไม่ได้สวมหมวกกันน็อกศีรษะของพวกเขาคงกระจายเกลื่อนพื้นเหมือนแตงโมแน่ๆ

จากนั้นได้มีการคัดเลือกไอดอลของโรงเรียน เป็นแกนนำในการรณรงค์ “แบบพี่สอนน้อง” โดยให้รุ่นพี่ในโรงเรียนชวนให้น้องๆ สวมหมวกกันน็อกมาโรงเรียน ให้นักเรียนดูแลเตือนกันเอง โดยเพียงแค่ 1 ภาคการศึกษา มีนักเรียนสวมหมวกกันน็อกมากขึ้นถึง 30% และมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ

เพราะเด็กได้นำเรื่องราวที่ได้เรียนรู้ไปกระตุ้นผู้ปกครอง ไม่น่าเชื่อเลยว่าแค่วิธีที่เรียบง่ายแบบนี้ จะสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กๆ ได้ จะเห็นได้ว่าบางครั้งการเปลี่ยนแปลงก็ไม่จำเป็นต้องคิดอะไรใหญ่โต เพราะสิ่งของใกล้ตัวอย่าง “แตงโม” ก็สามารถทำให้เด็กๆ สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็กได้ เพียงแค่เราใส่ใจและอยากเห็น “ความปลอดภัย” ของพวกเขาอย่างจริงจัง