posttoday

เฟซบุ๊กภัยออนไลน์ต้องรู้เท่าทัน

22 กรกฎาคม 2553

นวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่ไหลไปอย่างรวดเร็วนั้น มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ขึ้นอยู่กับว่าจะเราใช้มันไปในทางที่ดีหรือเลว และรู้เท่าทันมันหรือไม่

นวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่ไหลไปอย่างรวดเร็วนั้น มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ขึ้นอยู่กับว่าจะเราใช้มันไปในทางที่ดีหรือเลว และรู้เท่าทันมันหรือไม่

โดย...ธนก บังผล

เชยไม่เชย ไม่รู้ รู้แต่ว่าเทรนด์ยุคนี้ไปไหนมาไหนก็มีแต่คนถามว่ามี “เฟซบุ๊ก” หรือเปล่า แสดงว่าของเขาแรงจริง พอได้ลองเปิดเข้าหน่อยทำเอาหลายคนเลิกเล่นไฮฟ้ง ไฮไฟว์กันไปเลย

เทคโนโลยีพัฒนาอย่างรวดเร็ว เรียกได้ว่า ต้องตามกระแสของโลก “อินเทอร์เน็ต” แบบวันต่อวัน แต่ก็มีคนอีกมากที่ตามไปตามมากลับถูกมันครอบงำเสียงั้น ติดออนไลน์จนงอมแงม ห่างหายนิดหน่อยเป็นหงุดหงิด

และคนกลุ่มนี้เองที่เสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยีทั้งรู้ตัวและไม่รู้ต้ว...โดยสมยอม!!!

ไม่ใช่เพราะ “เฟซบุ๊ก” หรอกหรือที่ทำเอาคนทั้งบ้านทั้งเมืองรู้จัก “มาร์ค v 11” จากเวทีอะคาเดมี แฟนเทเชีย ซีซัน 7 หลังจากเข้าไปแสดงความเห็นส่วนตัวในเฟซบุ๊กกระทบชิ่ง “มาร์ค นายกฯ” จนถูกกระแสต่อต้านและต้องถอนตัวออกจากเวทีนักล่าฝัน

วิทวัส ท้าวคำลือ เด็กหนุ่มวัย 17 ปี ผู้ตามล่าความฝันอยู่ดีๆ ก็มีอันต้องถูกความฝันเขี่ยตกกระเด็นลงเวที วันนี้ “มาร์คน้อย” คงพอจะรู้พิษสงความร้ายกาจของการถูกเครือข่ายสังคมออนไลน์เล่นงานกลับเป็นอย่างดี

เฟซบุ๊กภัยออนไลน์ต้องรู้เท่าทัน

ประเด็นอาจจะเป็นที่วิพากษ์กันอย่างกว้างขวาง ถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งแน่นอนบทเรียนนี้สอนว่า ถึงเราจะมีเสรีภาพจนล้นจักรวาล แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้เสรีภาพของตัวเองไปล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นได้ แต่ที่สำคัญที่สุดที่คนละเลยจะพูดถึงคือ เรื่องนี้มันเกิดมาจากเฟซบุ๊ก

หวั่นๆ กันว่า การล่มสลายความนิยมของเว็บแชตออนไลน์ อย่าง “QQ” และ “hi5” อันเนื่องมาจากถูกกลุ่มคนไม่หวังดี รวมถึงพวก “มิจฉาชีพ” ทั้งหลายนำไปใช้หลอกลวงก่ออาชญากรรม จะตามมาหลอกหลอนชาวเฟซบุ๊ก ในที่สุดวันนี้ก็เจอจนได้
เพียงแต่คราวนี้เป็นคดีพิษรักแรงหึงที่เอากันถึงตาย จำรัส กับ บันหยัด แสงแสน สองสามีภรรยาใน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี อยู่กินกันมาหลายปีจนมีลูกชาย 1 คน

ฝ่ายชายอายุ 48 ปี ส่วนภรรยาอายุ 35 ปี บันหยัด ถึงจะมีลูกแล้วหนึ่งคน แต่ก็ยังตามติด Social Network ผ่านเฟซบุ๊ก

ส่งข้อความออนไลน์ไปๆ มาๆ ก็เกิดเรื่องจนได้ เพราะระหว่างนั่งโพสต์อยู่นั้น สามีก็มาเห็นว่าเธอกำลังคุยอยู่กับเพื่อนผู้ชาย เป็นเรื่องทันทีลมหึงพัดกระหน่ำขึ้นหน้าผู้เป็นสามีอย่างแรง ระแวงว่าภรรยาจะปันใจให้ชายอื่น บานปลายจนทำให้ทั้งสองคนทะเลาะกัน
ในที่สุด บันหยัด ได้นำไปเล่าให้ นิตยา พุ่มบุตร ผู้เป็นแม่ฟังเพื่อปรับทุกข์ คืนนั้นลูกเขยเข้าไปในบ้านแม่ยายแล้วขโมยปืนสมิธแอนด์เวสสัน ขนาด .38 ที่หัวเตียงไป กว่านางนิตยาจะรู้ก็ต่อเมื่อตื่นเช้ามาแล้วไม่เจอปืน

และเป็นไปอย่างที่แม่ยายกังวล เธอพบศพของลูกสาวถูกยิงเข้าที่ขมับซ้าย กระสุนฝังในอยู่ในห้องนอน โดยมีศพลูกเขยนอนทับอยู่ สภาพถูกกระสุนปืนยิงเข้าที่ขมับขวาทะลุขมับซ้าย หลักฐานเดียวที่เหลืออยู่ทำให้ต่อภาพคดีได้คือ จดหมายลาตายที่เขียนด้วยลายมือของจำรัส

“ด้วยรักจำเป็นต้อง...ผมรักเธอผมจะขาดเธอไม่ได้นะ พวกเราต้องมีอันต้องแยกจากกัน เราตายด้วยกันยังดีกว่า ผมขอฝากลูกด้วยครัทุกคน ผมรักเมียผม เราทั้งสองจะไปสู่อีกโลกอื่น|ลาก่อนครับ ทุกสิ่งทุกอย่างผมขออโหสิกรรมด้วยครับ ผมรักของผมจริงๆ”
อ่านะ...แล้วได้ถามภรรยาหรือเปล่าว่าอยากไปด้วยไหมเอ่ย ????

ไหนๆ ก็ไปแล้ว เหตุสลดที่เกิดขึ้นคงไม่ต้องตัดสินว่าการระแวงรักจนตัดช่องน้อย ทิ้งลูกเล็กตาดำๆ ให้ต้องเผชิญโลกแห่งความจริงเพียงลำพังนั้น ถูกหรือผิด ????

ประเด็นที่น่าวิพากษ์เป็นเรื่องเป็นราวคือกรณีการก่ออาชญากรรมจากเฟซบุ๊กมากกว่า !!!

โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษ เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา เกิดคดีสะเทือนขวัญเมื่อฆาตกรวัย 33 ปี หลอกล่อเหยื่อสาวอายุ 17 ปี มาก่อเหตุข่มขืนแล้วฆ่า หลังจากทั้งคู่ทำความรู้จักกันผ่านทางเฟซบุ๊ก

ข่าวเกรียวกราวนี้ ทำให้เฟซบุ๊กแสดงความรับผิดชอบด้วยการหันกลับมาทบทวนระบบการป้องกัน โดยได้ประกาศที่จะเปิดตัวแอพพลิเคชัน “Panic Button” หรือ “ปุ่มระวัง” ในประเทศอังกฤษ โดยพุ่งเป้าไปที่กลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นหลัก หากมองไปยังต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา เฟซบุ๊กเองกำลังถูกจับตา เพราะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย

ผลสำรวจจากสถาบันทนายความอเมริกันด้านการสมรส (เอเอเอ็ม) ยืนยันว่า เฟซบุ๊กนี่ละคือต้นตอสำคัญที่ได้สร้างความเกลียดชังทะเลาะเบาะแว้งระหว่างคู่สมรสกันบ่อยครั้งมาก และหลายๆ กรณีก็กลายเป็นเรื่องถึงขั้นฟ้องร้องค่าเสียหาย หรือการฟ้องหย่ากันเลย

นวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่ไหลไปอย่างรวดเร็วนั้น มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ขึ้นอยู่กับว่าจะเราใช้มันไปในทางที่ดีหรือเลว และรู้เท่าทันมันหรือไม่ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ในอนาคตมิจฉาชีพก็คงใช้ช่องทางออนไลน์ก่ออาชญากรรมรูปแบบใหม่ไม่จบไม่สิ้น