posttoday

ลุยจัดระเบียบนายแบบ-นางแบบต่างชาติเลี่ยงภาษีไม่มีใบอนุญาต

01 ธันวาคม 2558

กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ขู่เอาผิดบริษัทโมเดลลิ่ง นางแบบ นายแบบ ต่างชาติลักลอบทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต

กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ขู่เอาผิดบริษัทโมเดลลิ่ง นางแบบ นายแบบ ต่างชาติลักลอบทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต

เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน นายสมชาย แสงรัตนมณเดช รองอธิบดีกรมสรรพากร พล.ต.ต.ศุภผล อรุณสิทธิ์ ผู้บังคับการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง 1 พล.ต.อ.ชัชวาล สุขสมจิตร์ ประธานที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรมถ่ายแบบและผู้ประกอบการไทย นายเอ็ดเวิร์ด กิตติ ผู้ก่อตั้งสมาคมอุตสาหกรรมถ่ายแบบฯ และแพนเค้ก เขมนิจ ตัวแทนนางแบบไทย ร่วมแถลงข่าว “หยุด นางแบบนายแบบและเด็กผิดกฏหมายในประเทศไทย ต่อต้านการค้ามนุษย์" รณรงค์ไม่จ้างนางแบบและนายแบบต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงาน ซึ่งปัจจุบันลักลอบเข้ามาทำงานมากขึ้นตามความเจริญของอุตสาหกรรมถ่ายแบบไทย จากข้อมูลสมาคมมีเดียเอเยนซี่ในปี 2557 ระบุว่า ไทยมีงบการโฆษณาในทุกสื่อของประเทศมากถึง 146,000 ล้านบาท โดยมีตัวแทนสถานเอกอัครทูตหลายประเทศ และกลุ่มดารา นางแบบ นายแบบ คนไทยและต่างชาติกว่า 30 คน ร่วมแถลงและโชว์เดินแบบเรียกเสียงฮือฮาจากข้าราชการ อาทิ โย-ยศวดี หัสดีวิจิตร มาริสา อานิต้า ซาบีน่า ไมซิงเกอร์ และมาลินี โคทส์

ม.ล.ปุณฑริก กล่าวว่า อุตสาหกรรมถ่ายแบบไทยเติบโต จึงมีคนต่างชาติเข้ามาทำงานมากขึ้น ส่วนใหญ่มาจากยุโรปตะวันออก และอเมริกาใต้ อาทิ บราซิล อิสราเอล ยูเครน ใช้วีซ่าท่องเที่ยว เข้ามาลักลอบทำงานกับบริษัทโมเดลลิ่ง โดยไม่ได้รับอนุญาตทำงานจากกรมการจัดหางาน คนกลุ่มนี้มีรายได้สูงแต่หลีกเลี่ยงการชำระภาษี อีกทั้งบางรายมีอายุไม่ถึง 18 ปี อาจเชื่อมโยงถึงการใช้แรงงานเด็กและอาจเข้าข่ายการค้ามนุษย์ ส่งผลกระทบภาพลักษณ์ของประเทศและสูญเสียรายได้ด้านภาษี ยังเป็นการแย่งอาชีพคนไทยด้วย จึงขอย้ำเตือนว่า นางแบบ นายแบบคนต่างชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยหรือประสงค์จะทำงานในประเทศไทยต้องขอใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) จากกรมการจัดหางาน  และต้องมีวีซ่า NON – IMMIGRANT  ไม่ใช่ในฐานะนักท่องเที่ยว (TOURIST) หรือ ผู้เดินทางผ่าน (TRANSIT) โดยกระทรวงแรงงานจะร่วมกับหน่วยงานรัฐและเอกชน ทำงานอย่างเป็นระบบ และจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด

นายอารักษ์ กล่าวว่า การจัดระเบียบจะมีมาตรการจากเบาไปหาหนัก ในเบื้องต้นจะร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมถ่ายแบบฯ ทำสื่อประชาสัมพันธ์รณรงค์ไม่ให้เจ้าของสินค้าว่าจ้างคนต่างชาติที่ลักลอบเข้ามาทำงาน และจัดสัมมนาให้ความรู้บริษัทถ่ายทำโฆษณา นายหน้า นางแบบ นายแบบ ดำเนินธุรกิจหรือประกอบอาชีพโดยปฏิบัติให้ถูกต้อง การตรวจผู้กระทำผิดอาจจะไม่ถึงกับต้องไปตรวจในงานแฟชั่นโชว์ แต่จะแจ้งให้ผู้จัดงานส่งหลักฐานการอนุญาตทำงานของนางแบบนายแบบต่างชาติมาให้ตรวจสอบก่อนจัดงาน

สำหรับโทษของคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาต  ตาม พรบ.การทำงานงานคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 51 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับตั้งแต่ 2,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ คนต่างด้าวได้รับใบอนุญาตทำงาน แต่ไม่ทำงานตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในใบอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท นายจ้างที่รับคนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงาน มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน นอกจากนี้ยังผิดตาม พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กรณีใช้แรงงานเด็ก พรบ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และฝ่าฝืนระเบียบการชำระภาษี มีโทษปรับและจำคุกหรือทั้งจำทั้งปรับ

ด้านนายเอ็ดเวิร์ด กล่าวว่า สมาคมได้เรียกร้องในเรื่องนี้มาตลอด เพราะต้องการสร้างมาตรฐาน และภาพลักษณ์อุตสาหกรรมถ่ายแบบของไทย เป็นเมืองแฟชั่นที่แท้จริง จากข้อมูลของกรมสรรพากรเมื่อ 10 ปี ที่ผ่านมา มูลค่างบประมาณอุตสาหกรรมถ่ายแบบในประเทศไทยมี 25,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันตัวเลขสูงขึ้นมาก คนไทยนิยมคนต่างชาติ หรือนางแบบ นายแบบ ที่หน้าตาแบบลูกครึ่งเพื่อสร้างแบรนด์ให้สินค้าให้เป็นที่สนใจจึงต้องใช้คนกลุ่มนี้ จึงมีคนต่างชาติเข้ามาทำงานในไทยมากขึ้น มีบริษัทโมเดลลิ่ง เอเยนซี่ คอยดูแล บางคนอยู่ในประเทศไทยนานจนรู้จักคนจ้างและรับงานเอง ในวงการแฟชั่นและถ่ายแบบถ่ายโฆษณามีประมาณ 300-500 คน และมากกว่าครึ่งเป็นการทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต โดยเฉพาะในวงการแฟชั่นโชว์ บางคนมีรายได้จากการถ่ายโฆษณาสินค้า ประเภทยาสระผม หรือครีมบำรุงผิว หลักแสนถึงล้านบาท จึงต้องจัดระเบียบ เร่งให้ความรู้ผู้ประกอบการ  โดยบริษัทเอเยนซี่จะต้องจดทะเบียนบริษัทถูกต้อง ต้องมีงบจดทะเบียน 2 ล้านบาทขึ้นไป