posttoday

สนช.ดักทางแก้กม.สสส.ชงแก้ระเบียบดูตามปัญหา

05 พฤศจิกายน 2558

สนช.ดักทางแก้กม.สสส.ชงแก้ระเบียบดูตามปัญหา ตอบคำถามสังคมได้ แนะสตง.สร้างมาตรฐานการตรวจสอบเรื่องสุขภาวะใหม่ให้ทันสมัย

สนช.ดักทางแก้กม.สสส.ชงแก้ระเบียบดูตามปัญหา ตอบคำถามสังคมได้ แนะสตง.สร้างมาตรฐานการตรวจสอบเรื่องสุขภาวะใหม่ให้ทันสมัย

นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กล่าวถึงความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องภายหลังมีกระแสข่าวการแก้ไขพ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 เนื่องจากเป็นประเด็นที่สังคมตั้งข้อสงสัยการบริหารงานของสสส.มีการใช้งบประมาณผิดวัตถุประสงค์ ว่า จากการตรวจสอบติดตามการทำงานของ สสส.โดยได้รับรายงานของสสส.ทุกปี เห็นว่าสสส.สามารถทำประโยชน์ได้ดี เป็นการดึงภาษีบาป ตามหลักสากลเพื่อนำมาใช้เพื่อพัฒนาสังคมและประเทศชาติ

ส่วนกฎหมายที่ใช้มาแล้ว และกำลังถูกครหาก็ต้องถูกตรวจสอบ  ซึ่งถือเป็นบรรทัดฐานเดียวกันหมดไม่ใช่แค่การเลือกตรวจสอบ ซึ่งมันก็คือหลักธรรมาภิบาลสสส.เองก็ต้องถูกตรวจสอบ คนที่ทำความดีก็ต้องตรวจสอบได้ แต่ก็ต้องดูองค์กรที่เข้ามาตรวจสอบด้วยว่าเป็นมาตรฐานหรือไม่ เพราะขณะนี้ยังเป็นข้อสงสัยทั้งสองฝ่ายทั้งผู้ถูกตรวจสอบและผู้เข้ามาตรวจสอบ

นายสมชาย กล่าวว่า สำหรับประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อน อย่าให้มันเหมือนเรากล่าวหานักการเมืองทุจริต สสส.เองก็ต้องแก้ไขวิธีการอนุมัติ กรรมการสสส.ไม่ควรนั่งอยู่ในกรรมการมูลนิธิที่เข้ามาขอรับทุนซึ่งตรงนี้ต้องหลีกเลี่ยง รวมถึงดูว่าเรื่องไหนเกินหน้าที่ของสสส.ต้องแบ่งให้คนอื่นเขาทำ และหากยืนยันที่จะแก้กฎหมาย ก็อย่าให้ย้อนกลับไปสู่ยุคที่นักการเมืองขย้ำองค์กร สสส.เรียกว่าวัดครึ่งหนึ่งกรรมการครึ่งหนึ่ง  ซึ่งมันจะกลับไปสู่หลักการคอนเซอร์เวทีฟ คิดแต่เรื่องรักษาโรค ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องมีสสส.ก็ได้ เพราะกระทรวงสาธารณสุขก็มีหน้าที่ตรงนี้ได้อยู่แล้ว ซึ่งมันหมุนหลับไปสู่การทำงานเพียงแค่งานรักษาใช่หรือไม่

“ผมคิดว่าถ้าหากจะแก้กฎหมายก็ต้องชัดเจนว่าจุดไหน แค่ไหน กระบวนการต้องชัดเจน ไม่ใช่แก้รื้อจนเขาต้องยุบไปหมด ถ้าเป็นอย่างนั้นรัฐบาลเองก็ต้องตอบคำถามสังคม แล้วประชาชนเขาจะยอมหรือ แล้วเหตุผลของการยุบคืออะไรต้องอธิบายให้ได้ ขณะเดียวกันระเบียบกฎหมายของสสส.ก็เช่นเดียวกัน มีปัญหาตรงไหนก็แก้ไขได้ แก้ในส่วนของระเบียบภายใน ปรับปรุงนโยบายวิธีการของ สสส.ซึ่งตรงนี้ทำได้เลย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและตอบคำถามเรื่องโปร่งใสต่อสังคม ส่วนองค์กรที่เข้ามาตรวจสอบต้องมีข้อตกลงร่วมทั้ง2ฝ่ายให้ชัดเจน สตง.ต้องมีมาตรฐาน สร้างบรรทัดฐานเรื่องสุขภาพสุขภาวะ ให้ทันสมัยต่อโลก ไม่เช่นนั้นเรื่องที่ทำมาหากใช้ระเบียบเก่าความคิดเก่าในการตรวจสอบงานที่ทำมาก็ผิดกันทั้งประเทศ” นายสมชายกล่าว

นายมณเฑียร บุญตัน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กล่าวว่า หากมีการแก้พ.ร.บ.สสส.ก็ไม่ต่างอะไรกับหน่วยงานราชการทั่วไปที่มีข้อจำกัด ไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง ก้าวข้ามกระทรวงทบวงกรมได้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ หากแก้กฎหมายเท่ากับเป็นการแก้ย้อนยุคนำไปสู่ระบบราชการแบบจารีตนิยม อย่าพยายามทำให้สสส.แคบลงหันไปสู่กรอบความคิดเดิม เพราะเป็นระบบที่ตึงไม่เอื้อกับภาคส่วนต่างๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการพัฒนา ที่สำคัญระบบแบบนี้ยิ่งจะมีการทุจริตมากขึ้น เพราะไม่มีใครล่วงรู้ ไม่มีใครมีส่วนร่วม ทุกอย่างเป็นแนวเส้นตรงจากบนสู่ล่าง มันดูเหมือนดี แต่ระบบแบบนี้พิสูจน์ให้เห็นมานานแล้วว่าเป็นระบบแนวดิ่ง ระบบสั่งการและล่าช้า ไม่ก่อให้เกิดนวัตกรรมสร้างความคิด  เพราะทุกคนเกรงกลัวไปหมด ขณะนี้กระแสปราบคนโกงสังคมร่วมตรวจสอบซึ่งเป็นเรื่องดี แต่ต้องไม่ลืมสร้างสิ่งดีๆส่งเสริมให้คนทำดี

“เห็นด้วยว่าสสส.ต้องได้รับการตรวจสอบและปรับปรุงแก้ไขระเบียบ แต่ไม่ควรแก้กฎหมาย เพราะขั้นตอนการทำงาน หรือคนทำงานก็ควรได้รับการปรับปรุงตรวจสอบ หากพบว่ามีการทุจริตใช้เงินไม่คุ้ม ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายเฉพาะบุคคลหรือเฉพาะโครงการนั้น  ซึ่งการปรับปรุงสสส.ควรเป็นการให้สสส.ทำงานที่กว้างขึ้นกว่าเดิมถึงจะส่งผลดีต่อสุขภาวะ สร้างสังคมเข้มแข็ง อย่างไรก็ตามหากแก้กฎหมายแล้วดึงสสส.ไปสู่บริบทเก่า ก็ไม่ต่างอะไรจากกระบวนการจ่ายเงินมากกว่ามองผลกระทบและผลลัพธ์ที่จะได้”นายมณเฑียร กล่าว