เมื่อวันที่ 27 ต.ค. ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการสสส. รักษาการแทนผู้จัดการสสส. เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา คณะกรรมการสสส. ได้มอบหมายให้คณะกรรมการกองทุน กำหนดแผนดำเนินงานในแต่ละปี รวมถึงกำหนดตัวชี้วัดต่างๆ ออกมา ซึ่งล่าสุด จากตัวชี้วัดทั้งหมด 113 ตัวชี้วัด แผนงานที่สสส.อนุมัติ สามารถตอบโจทย์ได้มากถึง 105 ตัวชี้วัด หรือคิดเป็นมากกว่า 93% และยืนยันว่า สสส.ได้ทำตามที่คณะกรรมการอนุมัติทุกอย่าง
สำหรับการกำหนดความสำคัญแต่ละโครงการ สสส. ได้กำหนดตามภาระโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพลำดับต้นๆ มาวิเคราะห์ ก่อนกำหนดเป็นแผนงาน ซึ่งหากสำคัญน้อย ก็จะไม่ถูกเลือก นอกจากนี้ ยังมีงานวิชาการรองรับ เพื่อตอบว่าทำไมสสส.ถึงต้องทำโครงการต่างๆ เหล่านี้
“ยกตัวอย่างเรื่องสุขภาวะเชิงพื้นที่ หรือสุขภาพชุมชนนั้นมีงานวิชาการระบุว่าหากชุมชนสามารถรับมือกับปัญหาต่างๆ ได้ดี ชุมชนก็จะมีสุขภาพที่ดีตามไปด้วย ด้วยเหตุนี้ สสส.จึงลงไปทำงานเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน หรืออย่างการพัฒนากลไกเฝ้าระวังด้านสื่อก็เช่นกัน เพราะฉะนั้นจึงอยากให้มองภาพรวม มากกว่ามองจุดใดจุดหนึ่ง” รองผู้จัดการสสส.กล่าว
ทพ.สุปรีดา กล่าวอีกว่า ส่วนที่ยังคลุมเครือ เช่น ขอบเขตนิยามคำว่าสุขภาพนั้น สสส.ยินดีหาจุดที่ลงตัว ด้วยการนำไปปรับแก้นิยามอีกครั้ง ส่วนจะไปไกลไปถึงแก้กฎหมายหรือไม่ คงต้องอยู่ที่กรรมการชุดที่ ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข แต่งตั้งพิจารณาอีกครั้ง
นอกจากนี้ ทพ.สุปรีดา กล่าวอีกว่า สสส. พร้อมให้มีเวทีวิชาการ เชิญคนนอกมาพูดคุยถึงข้อดี-ข้อเสีย ขององค์กร รวมถึงข้อเสนอแนะต่างๆ ต่อไป เพื่อให้ได้แนวทางที่ดีที่สุด
“ส่วนประเด็นที่สังคมยังสงสัย ต้องจัดการให้เรียบร้อย การแก้กฎหมายอาจเป็นวิธีหนึ่ง แต่ในข้อสรุปที่ประชุมร่วมกับศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ก็ยังไม่ได้ย้ำว่าต้องแก้กฎหมาย คือมันเป็นไปได้ แต่ยังไม่ตายตัว” ทพ.สุปรีดากล่าว
รองผู้จัดการสสส. กล่าวว่า พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรมพูดชัดว่า การจะแก้พ.ร.บ. โดยเปลี่ยนรูปแบบให้เอางบประมาณสสส.เข้างบประมาณแผ่นดิน หรือเอาเข้าสภานั้น ไม่ใช่ประเด็น แต่ทำไงให้วิธีพวกนี้รัดกุมแค่นั้นเอง ซึ่งทางสสส.ก็เห็นด้วย
ส่วนที่หลายคนมองว่า มีการนำเงินสสส.ไปสนับสนุนมูลนิธิ ที่มีประธานมูลนิธิหลายคนอยู่ในคณะกรรมการนั้น ขอให้มองว่า เงินที่จ่ายลงไปเป็นการนำไปใช้เพื่อสาธารณะ และไม่อยากให้มองว่า องค์กรสาธารณประโยชน์เป็นผู้ร้ายอย่างเดียวเสมอไป