‘กลุ่มใบไม้’ คนรุ่นใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
บางครั้งธรรมชาติก็ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด ยิ่งมีคนคิดจ้องทำลาย ยิ่งจำเป็นต้องมีคนใส่ใจมากกว่า
โดย...ณัฐดนัย คุณกมุท
บางครั้งธรรมชาติก็ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด ยิ่งมีคนคิดจ้องทำลาย ยิ่งจำเป็นต้องมีคนใส่ใจมากกว่า แต่คนคิดกับคนทำจำนวนมักสวนทางกัน เสียงเล็กๆ พลังเล็กๆ ที่คอยปกป้องต้นไม้ จึงเป็นอีกหนึ่งความหวัง ที่ควรให้สังคมรับรู้ว่ามีพวกเขาอยู่
“กลุ่มใบไม้” เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่รักและหวงแหนธรรมชาติ ถึงแม้จะดูเป็นเพียงใบไม้ใบเล็กๆ แต่เชื่อว่าเมื่อใบไม้หลายใบมารวมกัน ก็อาจรวมพลังเพื่อปกป้องต้นไม้ให้เติบใหญ่ในอนาคตได้
สัจจพงศ์ เหรียญโมรา ครีเอทีฟ ดีไซเนอร์ ประจำกลุ่ม เล่าว่ากลุ่มใบไม้ก่อตั้งปี 2551 เกิดจากการรวมตัวกันของนักศึกษาที่ชอบทำกิจกรรมด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมกลุ่มกันจัดค่ายเยาวชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของพื้นที่นั้นๆ ว่าแต่ละพื้นที่มีพันธุ์ไม้ พันธุ์สัตว์อะไรบ้าง
กิจกรรมแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือการจัดกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติในพื้นที่นั้นๆ เช่น การจัดค่ายที่เขาใหญ่ เน้นการพานักเรียนที่อยู่บริเวณรอบๆ ไปรู้จักว่าในอุทยานมีสัตว์อะไรบ้าง พันธุ์ไม้อะไรบ้าง มีวิทยากรลงไปให้ความรู้ รวมถึงการสันทนาการให้กับน้องๆ เฉลี่ย 4 ค่ายต่อปี ตอนนี้ก็เกือบ 30 ค่ายแล้ว
ส่วนที่ 2 คือ การสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เช่น การระดมทุนไปสร้างฝาย เพื่อนำไปซื้ออุปกรณ์สนามมอบให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในพื้นที่ห่างไกล
“การเลือกสถานที่ แรกๆ เราเลือกบริเวณโดยรอบที่ตั้งเราก่อนซึ่งฐานหลักของกลุ่มใบไม้อยู่ที่ จ.นครนายก ซึ่งอยู่ใกล้กับอุทยานเขาใหญ่ พอเราขึ้นไปที่เขาใหญ่เจอกับรุ่นพี่ที่ทำงานในวงการอนุรักษ์อยู่แล้วก็จะคอยส่งข่าวกันว่าตอนนี้มีที่ไหนกำลังต้องการอะไร แล้วเราก็ดูว่าเราสามารถหาคนหรือหาทรัพยากรไปสนับสนุนที่ไหนได้สะดวก นอกจากเขาใหญ่เราก็มีที่กาญจนบุรี และที่เพิ่มเข้ามาล่าสุดคือ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่กุยบุรีจะเน้นให้ความรู้มากกว่า เพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชาวต่างชาติที่จะมาดูพวกสัตว์ในอุทยาน แล้วคนที่นำเที่ยวก็เป็นชาวบ้านในนั้น ซึ่งชาวบ้านเขาไม่ค่อยมีความรู้ทางด้านสิ่งแวดล้อมกับเรื่องภาษามากนัก ทางกลุ่มก็จัดการหมุนเวียนเข้าไปสอนภาษาอังกฤษ แล้วสอนเกี่ยวกับการดูนก การวิเวกวิทยาของสัตว์ป่าในพื้นที่นั้นให้ชาวบ้านได้รู้จะได้เอาไปบอกนักท่องเที่ยวได้อย่างถูกต้อง”
กลุ่มใบไม้จะเน้นข้อมูลเชิงวิชาการที่ถูกต้องชัดเจน และใช้วิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านนั้นความรู้ทางด้านวิชาการจะต้องเป็นเรื่องที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว เป็นข้อมูลเฉพาะด้านที่มาจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง
บัวลูกแก้ว ศักดิ์ชัชวาล สมาชิกกลุ่มใบไม้ บอกว่าเข้ากลุ่มเพราะมีคนแนะนำ ลองทำกิจกรรมที่หนึ่งแล้วชอบจนทำที่สอง ที่สาม ถึงตอนนี้ก็เป็นสมาชิกเข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว
“รู้สึกเหมือนเป็นงานประจำอีกงานหนึ่งที่ต้องมาทำ จันทร์ถึงศุกร์ต้องทำงานประจำ และมาทำงานให้กับกลุ่มใบไม้ทุกวันเสาร์และอาทิตย์ แม้จะทำงาน 7 วัน แต่ก็มีความสุข
เพราะมาที่กลุ่มใบไม้เหมือนได้พักผ่อนท่ามกลางธรรมชาติไปในตัว และได้ทั้งความรู้มิตรภาพดีๆ มันเป็นพื้นที่สำหรับเรา เป็นพื้นที่เปิดใหม่สำหรับคนรักธรรมชาติจริงๆ”
สำหรับทีมงานหรือสมาชิกในกลุ่มใบไม้มีประมาณ 300 คน บางกิจกรรมใช้ประมาณ 20-30 คน จะมีสถานที่ปลายทางไว้ก่อน แล้วต่างคนต่างเดินทางมา แล้วสามารถเบิกค่าใช้จ่ายปลายทาง ทั้งค่าเดินทาง ค่ากิน ค่าอยู่เบิกได้ตลอดการทำกิจกรรม
ทิศทางของกลุ่มใบไม้ สัจจพงศ์ มองว่า “ในเรื่องเนื้อหาและเป้าหมายของกลุ่มยังคงเหมือนเดิม แต่เราอยากผลักดันกลุ่มให้เป็น Social Enterprise มากขึ้น กึ่งๆ เป็นบริษัทเหมือนนิติบุคคล แต่ไม่ได้ถึงกับเป็นมูลนิธิ จะพยายามบริหารให้กลุ่มผลิตผลงาน ถ้าเหมือนกับบริษัทก็คือเหมือนมีสินค้า เราก็รับจัดกิจกรรมซีเอสอาร์ อาจจะเป็นบริษัทห้างร้านที่ไหนที่จะจ้างให้พวกเราไปจัดกิจกรรมให้ แล้วรายได้ทั้งหมดก็นำเข้ามาบริหารในกลุ่มเพื่อที่จะทำค่ายต่อไป ส่วนรายได้ที่เหลือก็นำไปซื้ออุปกรณ์เพื่อนำไปให้เจ้าหน้าที่ในสนามต่อๆ ไป”
หากใครสนใจเข้าร่วมทำกิจกรรมกับกลุ่มใบไม้ หรืออยากสนับสนุนกลุ่ม ติดตามได้ทางเฟซบุ๊ก กลุ่มใบไม้ และ http://www.baimai.org