posttoday

ศาลฎีกาฯจำคุก "วิโรจน์" 18ปีคดีทุจริตกรุงไทยปล่อยกู้กฤษดานคร

26 สิงหาคม 2558

ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก "วิโรจน์ นวลแข" 18ปี ในคดีทุจริตธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้เอื้อประโยชน์กลุ่มกฤษฎามหานครยุคทักษิณ

ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก "วิโรจน์ นวลแข" 18ปี ในคดีทุจริตธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้เอื้อประโยชน์กลุ่มกฤษฎามหานครยุคทักษิณ

เมื่อวันที่ 26 ส.ค.เวลา 09.30 น.ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ นายศิริชัย วัฒนโยธิน รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวน พร้อมองค์คณะ รวม 9 คน ได้ออกนั่งบังลังค์อ่านคำพิพากษาคดีปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หมายเลขดำ อม.3/2555 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี, กรรมการบริหาร, กรรมการสินเชื่อ, เจ้าหน้าที่สินเชื่อของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และกลุ่มบริษัทเอกชน รวม 27 ราย เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, ความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงาน ในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502, ความผิด พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505, ความผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และ ความผิด พ.ร.บ.บริษัท มหาชน จำกัด พ.ศ. 2535

คำฟ้องสรุปพฤติการณ์ของจำเลยว่า ผู้บริหารธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้สินเชื่อกลุ่ม บมจ.กฤษดามหานคร ที่มีสถานะอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคาร เนื่องจาก ผอ.ฝ่ายกลั่นกรองสินเชื่อธุรกิจนครหลวง เคยจัดอันดับความเสี่ยงของกลุ่มกฤษดามหานครในอันดับ 5 คือไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อให้ได้ แต่ได้มีการอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทในกลุ่มกฤษดามหานคร 3 กรณี คือ 1. การอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทอาร์เค โปรเฟสชั่นนัล จำกัด จำนวนเงิน 500 ล้านบาท 2. การอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทโกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด วงเงิน 9,900 ล้านบาท (วงเงินไฟแนนซ์ 8,000 ล้านบาท วงเงินซื้อที่ดินเพิ่ม 500 ล้านบาท และวงเงินพัฒนาโครงการ 1,400 ล้านบาท) และ 3. การอนุมัติขายหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพของ บมจ.กฤษดามหานคร ให้กับบริษัท แกรนด์ คอมพิวเตอร์คอมมูนิเคชั่น จำกัด จำนวนเงิน 1,185,735,380 บาท ถือว่าผู้เกี่ยวข้องมีพฤติการณ์ ร่วมกันหรือสนับสนุนการกระทำความผิดกรณีธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐ เป็นการกระทำโดยทุจริต เพื่อฟื้นฟูกิจการของ บมจ.กฤษดามหานคร ประโยชน์ส่วนตนกับพวก

ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ปรากฎว่าไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยที่ 6-7 ซึ่งจำเลยที่ 18-20 รวมทั้งบริษัทในกลุ่มต่างอยู่ในสภาพมีหนี้สินจำนวนมาก ไม่มีรายได้ต่อเนื่องกันหลายปี มีดอกเบี้ยค้างชำระเพิ่มพูนขึ้น เกินการขาดทุนสะสมทำให้ฐานะการเงินไม่มั่นคง ความน่าเชื่อว่าจะชำระหนี้ได้ ซึ่งต้องห้ามมิให้ให้สินเชื่อตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคารกรุงไทย การที่จำเลยที่ 5-17 อนุมัติสินเชื่อให้แก่บริษัทจำเลยที่ 18 และจำเลยที่ 2-5 และจำเลยที่ 8-17 ซึ่งเป็นกรรมการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารกรุงไทยได้ร่วมกันอนุมัติสินเชื่อให้แก่บริษัทจำเลยที่ 19 จึงเป็นการไม่ชอบ นอกจากนี้การที่จำเลยที่ 2-4 อนุมัติขายหุ้นบุริมสิทธิ โดยไม่วิเคราะห์สินเชื่อของบริษัทจำเลยที่ 22 ทำให้ธนาคารกรุงไทยไม่ได้รับเงินค่าชำระหุ้น จนทำให้เกิดความเสียหาย จำเลยที่ 2-4 จึงมีความผิดตามฟ้อง

พิพากษาว่า นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย จำเลย 3 กับพวกจำเลยที่ 2,4 และ 12 มีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ม.4 ให้จำคุกจำเลยทั้งสี่ไว้คนละ 18 ปี ส่วนจำเลยที่ 5,8-11,13-17 ซึ่งเป็นพนักงานของธนาคารกรุงไทย ผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ม.4  จำคุกจำเลยทั้ง 10 คนในส่วนนี้ คนละ 12 ปี

สำหรับนายวิชัย กฤษดาธานนท์ เจ้าของโครงการหมู่บ้านกฤษดามหานคร จำเลยที่ 25 และจำเลยที่ 18-27 ซึ่งนิติบุคคล และผู้บริหารบริษัทในเครือกฤษดานคร มีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4 โดยให้ปรับจำเลยที่ 18-22 ซึ่งเป็นนิติบุคคล รายละ 26,000 บาท และให้จำคุกจำเลยที่ 23-27 คนละ 12 ปี และให้จำเลยที่ 20,25 และ 26 รวมกันคืนเงิน 10,004,467,480 บาท แก่ธนาคารกรุงไทย ผู้เสียหาย

นอกจากนี้ให้นายวิโรจน์ จำเลยที่ 3, 22 และจำเลยที่ 27 ร่วมรับผิดจำนวน 9,554,467,480 บาท และให้จำเลยที่ 12-17, 21, 23 และ 24 ร่วมรับผิดจำนวน 8,818,732,100 บาท ส่วนจำเลยที่ 18 รวมรับผิด 450 ล้านบาท และจำเลยที่ 2, 4, 5 และ 8-11 และ 19 ร่วมรับผิดจำนวน 8,368,732,100 บาทหากจำเลยที่ 18-22 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29 และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 6-7

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังฟังคำพิพากษาญาติจำเลยมีอาการโศกเศร้า บางรายถึงกับร้องไห้ออกมา ขณะที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้นำรถเรือนจำมารับจำเลยเพื่อไปควบคุมตัวต่อที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครต่อไป

สำหรับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 หลบหนีคดี ศาลฎีกาฯ จึงให้ออกหมายจับ ติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณ มาดำเนินคดี โดยให้จำหน่ายคดีเฉพาะส่วนของ พ.ต.ท.ทักษิณไว้เป็นการชั่วคราวก่อนจนกว่าจะได้ตัวมา

สำหรับคดีดังกล่าว คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. และธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ตรวจสอบและพบว่า ผู้บริหารธนาคารกรุงไทยปล่อยสินเชื่อกลุ่มกฤษดามหานครที่มีสถานะอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคาร แต่กลับอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทในกลุ่มกฤษดามหานคร รวมวงเงินกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายในลักษณะเอื้อประโยชน์ให้กับเครือบริษัทกฤษดานคร