posttoday

กรมอุทยานฯหาทางลดภาระค่าดูแลสัตว์ของกลาง

25 สิงหาคม 2558

กรมอุทยานฯอ่วมค่าดูแลสัตว์ของกลางจ่อขอแก้คำจำกัดความในพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ลดภาระค่าใช้จ่าย

กรมอุทยานฯอ่วมค่าดูแลสัตว์ของกลางจ่อขอแก้คำจำกัดความในพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ลดภาระค่าใช้จ่าย   

นายเกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่า เปิดเผย ว่า ได้มอบหมายให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ดำเนินการแก้ไขคำจำกัดความคำว่า “ของกลาง” ใน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เพื่อลดปัญหาสัตว์ป่าของกลางที่เป็นภาระของกรมอุทยานฯ

ทั้งนี้ ปัจจุบันขั้นตอนการตำเนินการกับสัตว์ของกลางที่ยึดได้ ยึดตาม พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่หากไม่พบตัวผู้กระทำผิด ต้องเก็บรักษาของกลางไว้และรอจนคดีสิ้นสุด 5 ปี ซึ่งทำให้เกิดปัญหามากโดยเฉพาะของกลางที่เป็นสัตว์ป่าสิ่งมีชีวิต หากสัตว์เหล่านี้ตายลงก็ต้องเก็บรักษาซากโดยการแช่เย็นไว้ ความเย็นไม่พอก็เน่าเสีย และมีขั้นตอนยุ่งยากในการขอพิสูจน์ทำลายซาก ถ้าสามารถแก้ไขคำจำกัดความของคำว่า “ของกลาง”สัตว์ป่าในบัญชีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าพืชและสัตว์ซึ่งชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) ได้ก็จะเป็นผลดี เพราะไม่ต้องรอจนคดีสิ้นสุด 5 ปี เมื่อพิสูจน์ที่มาได้แล้วให้ส่งกลับประเทศต้นทางได้ทันที  จะทำให้ไม่เป็นภาระของประเทศไทยและเป็นภาพลักษณ์ที่ดีในเรื่องกฎหมายไซเตสด้วย

นายอดิศร นุชดำรงค์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า เรื่องสัตว์ของกลางโดยเฉพาะสัตว์จากต่างประเทศ เวลานี้เป็นภาระกับกรมอุทยานฯ อย่างยิ่ง เพราะประเทศไทยเป็นซึ่งเป็นทางผ่านที่จะมีการลักลอบขนส่งสัตว์ป่าส่งไปยังประเทศปลายทาง เนื่องจากเวลานี้ติดขัดในเรื่องกฎหมายหลายฉบับ เช่น เมื่อจับได้ต้องมีการพิสูจน์ชัด ทั้งการตรวจดีเอ็นเอว่าสัตว์ป่าเหล่านั้นมีถิ่นกำเนิดมาจากไหน โดยให้ประเทศต้นทางยอมรับอย่างเป็นทางการและให้ประเทศเหล่านั้นยอมรับสัตว์คืนซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานมาก เป็นภาระในการเลี้ยงดูอย่างมาก ไม่เฉพาะลิงอุรังอุตังจำนวน 14 ตัว แต่เวลานี้ยังมีเต่ามาดากัสการ์ อีกจำนวน 456 ตัว ในจำนวนนี้เป็นพันธุ์ยูนิฟรอล่า อยู่ในบัญชี 1 ไซเตส ซึ่งหายากมากในประเทศมาดากัสการ์เหลืออยู่เพียง 400 กว่าตัวเท่านั้น ในตลาดมืดซื้อขายกันตัวละ 3-5 แสนบาท กรมอุทยานฯ เก็บรักษาอยู่จำนวน 8 ตัว เต่าลายรัศมี ตัวละ  2-3 หมื่นบาท จำนวน 28 ตัว ที่เหลือเป็นเต่าราคาหลักพันบาท โดยก่อนหน้านี้เต่าของกลางมีจำนวนมากกว่านี้แต่ตายไปส่วนหนึ่ง เพราะสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมรวมทั้งคนเลี้ยงเลี้ยงแบบลองผิดลองถูก เช่น เอาผักบุ้งให้กิน โดยทราบภายหลังว่าเต่าพวกนี้เป็นเต่าบกและกินเนื้อเป็นอาหาร

นายอดิศร กล่าวว่า นอกจากสัตว์ป่าจากต่างประเทศแล้ว สัตว์ป่าของกลางที่กรมอุทยานฯ ต้องรับผิดชอบยังมีเสือทั้งเสือโคร่งจำนวน 51 ตัว เสือดาว จำนวน 7 ตัว หมีหมา จำวน 41 ตัว หมีควาย 151 ตัว โดยเสือโคร่งมีค่าอาหารวันละ 230 บาทต่อตัว/วัน หรือทั้งหมดคิดเป็น 4.2 ล้านบาท/ปี  ยังไม่รวมค่าดูแลสุขภาพอื่นๆ เช่น ฉีดวัคซีน ขูดหินปูน ค่าวิตามิน เป็นต้น ในแต่ละปีต้องของบประมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้ เมื่อ 5 ปี ที่ผ่านมากรมอุทยานฯได้รับโทรศัพท์จากพลเมืองดีว่า เจอกรงลิงอุรังอุตังตัวเต็มวัยจำนวน 13 ตัวใส่กรงถูกนำมาปล่อยทิ้งไว้ริมถนนทางหลวง จ.ภูเก็ต เจ้าหน้าที่กรมอุทยานเข้าไปตรวจสอบพบว่าเป็นการลักลอบนำเข้ามาโดยสวนสัตว์เอกชนแห่งหนึ่ง และนำลิงอุรังอุตังทั้งหมดไปเลี้ยงไว้ที่สถานีเพาะพันธุ์สัตว์ป่า เขาประทับช้าง จ.ราชบุรี ผ่านไปประมาณ 5 ปี รัฐบาลอินโดนีเซียทำหนังสือมายังกรมอุทยานฯแจ้งความประสงค์ว่า จะขอรับลิงทั้งหมดกลับประเทศ ซึ่งตามกฎของอนุสัญญาไซเตสลิงอุรังอุตัวเป็นสัตว์ในบัญชี 1 ประเทศที่รับเลี้ยงสัตว์เหล่านี้เอาไว้ สามารถเรียกรับค่าใช้จ่ายจากประเทศต้นทางได้ ซึ่งกรมอุทยานฯแจ้งไปว่า ค่าดูแลลิงอุรังอุตัง จำนวน 13 ตัวตลอด 5 ปีที่ผ่านมานั้น ซึ่งลิงได้ผสมพันธุ์กัน มีลูกออกมาใหม่ 2 ตัว แต่ตายไป 1 ตัว เหลือ 14 ตัว คิดเป็นเงินทั้งหมด 3 ล้านบาท ยังไม่รวมค่าจัดทำกรงซึ่งต้องเป็นกรงชนิดพิเศษสำหรับขนส่งลิงข้ามประเทศ และค่าขนส่ง รวมทั้งค่าตรวจสุขภาพ และการออกหนังสือรับรองจากสัตวแพทย์ภาคภาษาอังกฤษ เพื่อรับรองว่า สัตว์ไม่ป่วย และไม่มีเชื้อโรค ตามกฎของไซเตส ซึ่งทางรัฐบาลอินโดนีเซียแจ้งว่า จะส่งเครื่องบิน ซี 130 มารับลิงทั้งหมดในวันที่ 7 ก.ย. นี้