posttoday

ศก.ไทยวิ่งฉิว7%

09 กรกฎาคม 2553

ไอเอ็มเอฟประเมินเศรษฐกิจไทยสูงสุดถึง 7% แผนปรองดองกระตุ้นคนเชื่อมั่น

ไอเอ็มเอฟประเมินเศรษฐกิจไทยสูงสุดถึง 7% แผนปรองดองกระตุ้นคนเชื่อมั่น

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ออกรายงานคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ระบุว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะอยู่ที่ 7.0% ก่อนจะชะลอตัวลงในปีหน้า โดยจะเติบโตในระดับ 4.5% ถือเป็นประเทศที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคอาเซียนรองจากสิงคโปร์ ที่ในปีนี้คาดว่าจะเติบโตถึง 9.9%

เศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนโดยรวมในปีนี้จะมีอัตราเติบโตที่ 6.4% และ 6.5% ในปีหน้า โดยได้อานิสงส์จากการส่งออกที่เริ่มฟื้นตัว และจากความต้องการภายในประเทศที่เพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ไอเอ็มเอฟเตือนว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จนถึงปี 2554 ภูมิภาคนี้อาจจะต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงกับปัญหาทางการเงินของกลุ่มประเทศยูโรโซน ซึ่งการถดถอยในยุโรปจะส่งผลกระทบต่อการค้าและภาคการเงินของเอเชียด้วย เช่นกัน เนื่องจากเอเชีย โดยเฉพาะกลุ่มอาเซียน และกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ในเอเชีย ยังพึ่งการส่งออกไปยังยุโรปและอเมริกา

สำหรับเศรษฐกิจโลกโดยรวมในปีนี้ ไอเอ็มเอฟได้ปรับคาดการณ์เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.6% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือน เม.ย. ที่ 4.2% ส่วนเศรษฐกิจจีนนั้นจะมีการขยายตัวในปีนี้ที่ 10.5%

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากการสำรวจประชาชน 2,243 ตัวอย่าง เกี่ยวกับความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจไทยประจำเดือน มิ.ย. พบว่า ดัชนีทุกรายการปรับตัวดีขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) เท่ากับ 77.1 สูงขึ้นจากเดือน พ.ค. ที่ยืนในระดับ 75.5 และปรับตัวสูงขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพิ่มเป็น 62.5 จาก 61.3 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต 81.1 จาก 79.4 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมเท่ากับ 69.1 เพิ่มจาก 67.6 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานเพิ่มเป็น 68.2 จาก 66.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้อนาคตขยับเป็น 93.8 จาก 92.1

สาเหตุทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวสูงขึ้นทุกรายการมาจากปัจจัยบวก โดยเฉพาะสถานการณ์การเมืองคลี่คลายมากขึ้น หลังจากแผนปรองดองแห่งชาติของรัฐบาลมีความชัดเจน ประกอบกับมาตรการลดความเหลื่อมล้ำรายได้ส่งผลต่อจิตวิทยาเชิงบวกผู้บริโภคและเศรษฐกิจโตกว่าคาด