posttoday

ไพบูลย์ตั้งศูนย์ติดตามแก้ปัญหาแว้น-ร้านเหล้ารอบสถานศึกษา

27 กรกฎาคม 2558

รมว.ยุติธรรมตั้งศูนย์ติดตามประเมินผลแก้ปัญหาเด็กแว้น-ร้านเหล้ารอบสถานศึกษา หลังใช้ประกาศใช้ ม.44

รมว.ยุติธรรมตั้งศูนย์ติดตามประเมินผลแก้ปัญหาเด็กแว้น-ร้านเหล้ารอบสถานศึกษา หลังใช้ประกาศใช้ ม.44  

เมื่อวันที่ 27 ก.ค. พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เป็นประธานการประชุมแก้ปัญหาเยาวชนแข่งรถในทาง โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม อาทิ นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัด ยธ. กรมคุมประพฤติ กรมคุมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กรมสรรพสามิต กรมราชทัณฑ์ กองทัพบก (ทบ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กองอำนวยการการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวภายหลังการประชุมว่า ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทาง และการควบคุมสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ ซึ่งการเรียกมาประชุมครั้งนี้ เพื่อทบทวนมติคณะรัฐมนตรีที่จะต้องมีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระยะยาวว่าจะสามารถทำอย่างไรได้บ้าง พร้อมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดพื้นที่เชิงบวกสนามกีฬา เพื่อให้เยาวชนมีพื้นที่จัดกิจกรรมใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์โดยกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจะมีศูนย์ติดตามการทำงาน

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า การแก้ไขปัญหาเยาวชนแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทางที่มีการแต่งซิ่งนั้น ทางเจ้าหน้าที่จะดูว่าร้านใดให้การสนับสนุนในการแต่งรถซิ่งและนำรถไปแข่งในทางต้องห้ามหรือไม่ ถ้าทำผิดก็ต้องถูกดำเนินคดี เพราะยังมีร้านแต่งรถที่ประกอบการอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งอาจทำให้พวกเขาได้รับผลกระทบไปด้วย กฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นคนร่างขึ้นมาเอง แต่เป็นกฎหมายที่กฤษฎีกาเป็นผู้ร่างขึ้น และทางคสช. ก็ดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าว ส่วนการบังคับนั้น เพื่อเป็นการขอร้องผู้ประกอบการให้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย หากทำผิดก็ต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย

"ผมเชื่อว่าร้านแต่งรถที่เขาอยู่ในระเบียบ ทำมาหากินโดยสุจริตมีจำนวนมาก เพราะพวกเราเวลามีรถใหม่ก็มักนิยมไปแต่งรถเพื่อความสวยงามทั้งนั้น และรถเราไปทำความเดือดร้อนให้ชาวบ้านหรือไม่ ก็ไม่มีใครทำแบบนั้น เพราะร้านพวกนี้จำเป็นต้องอยู่ เพราะมันเป็นอาชีพเขา ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ก็ไม่ได้ไปล่วงถึงขนาดนั้น จึงขอให้ทุกคนทำความเข้าใจกฎหมายฉบับนี้ด้วย"พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ส่วนการควบคุมสถานบริการนั้นยืนยันว่า คำสั่งที่มีการประกาศใช้มาตรการดังกล่าว ไม่มีในเรื่องของการกำหนดให้สถานบริการอยู่ห่างจากสถานศึกษา 300 เมตร หรือ 500 เมตร เพราะในวันที่มีการประชุมนั้น ได้มีการหารือว่า จำเป็นต้องบังคับในระยะ 300 เมตรหรือไม่ ซึ่งทุกกระทรวงระบุตรงกันว่า เป็นเรื่องที่ทำได้ยากและกระทบต่อผู้ประกอบการสถานบริการที่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดและเปิดให้บริการมานานแล้ว จึงทำให้ทุกกระทรวงเห็นตรงกันว่า ยังไม่ควรระบุเรื่องระยะ 300 เมตรในคำสั่งดังกล่าว ดังนั้นจึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปชี้แจงผู้ระกอบการของแต่ละพื้นที่ให้เข้าใจตรงกันให้ช้ดเจน

พล.อ.ไพบูลย์  ยังกล่าวอีกว่า หลังจากนี้จะติดตามผลการดำเนินงานดังกล่าว ในอีก 2 เดือนข้างหน้า เพื่อประเมินว่ากฎหมายฉบับนี้สามารถบังคับใช้ได้จริงหรือไม่และจะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมตรงไหนอีกหรือไม่

รมว.ยธ. กล่าวอีกว่า ได้สั่งการให้กรมสรรพสามิต ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ช่วยกันดูในเรื่องของการจัดโซนนิ่งสถานบริการว่าจะกำหนดกันแค่ไหน เพื่อให้เกิดความชัดเจนภายใน 180 วัน เพราะกฎหมายเดิมกำหนดโซนนิ่งไว้ตั้งแต่ปี 2546 แต่ปัจจุบันความเจริญและลักษณะผังเมืองเปลี่ยนไป ทำให้หลายพื้นที่มีความเจริญเหมาะสมกับการเปิดสถานบริการ แต่ผู้ประกอบการที่สุจริตไม่สามารถขออนุญาตเปิดได้อย่างถูกต้อง เพราะติดขัดข้อกฎหมาย

ทั้งนี้ยังมอบหมายให้กรมสรรพสามิตไปทบทวนการออกใบอนุญาตสถานประกอบการภายใน 60 วัน เนื่องจากพบว่าผู้ประกอบการใช้ช่องว่างจากระเบียบเปลี่ยนชื่อร้านแล้วเปิดบริการใหม่  ดังนั้น หากตรวจสอบพบว่าเคยเป็นสถานบริการที่เคยถูกสั่งปิด 5 ปี จะต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาตห้ามเปิดบริการใหม่ อย่างไรก็ตามหากเข้าไปตรวจสอบแล้วพบว่ายังมีการเปิดบริการอีกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังให้มีการตั้งศูนย์ติดตามการทำงาน โดยใช้พื้นของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน โดยจะมีการชี้แจงรายละเอียดในภายหลัง ทั้งนี้ศูนย์ฯจะรับหน้าที่การรายงานผลจากทุกหน่วยงานที่ปฏิบัติการเพื่อ การทำงานที่เป็นระบบมากขึ้น และหากพบปัญหาก็สามารถรายงานมายังตนได้ เพื่อแก้ปัญหาต่อไป