posttoday

คนสงขลาค้านเวทีฟังความเห็นโรงไฟฟ้า

06 กรกฎาคม 2558

คนสงขลาค้านเวทีรับฟังความเห็นโรงไฟฟ้าเทพา 27-28 ก.ค.นี้ ด้าน "กระบี่" เดินหน้าประมูลสร้าง 22 ก.ค. ทั้งที่อีไอเอ ยังไม่ผ่าน คชก.

คนสงขลาค้านเวทีรับฟังความเห็นโรงไฟฟ้าเทพา 27-28 ก.ค.นี้ ด้าน "กระบี่" เดินหน้าประมูลสร้าง 22 ก.ค. ทั้งที่อีไอเอ ยังไม่ผ่าน คชก.

ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ร่วมกับเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน จัดเสวนาหัวข้อ “ขึงพืดการพัฒนาภาคใต้ ประเคนทรัพยากรละเลงลงทุน” เมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยข้อมูลเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือประเทศไทยมีไฟฟ้าเพียงพอ โดยเฉพาะภาคใต้ที่ไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มอีก

นายดิเรก เหมนคร ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนพัฒนาเมืองเทพา กล่าวว่า ในวันที่ 27-28 ก.ค.นี้ จะมีการจัดเวที ค.3 โครงการโรงไฟฟ้าเทพา จ.สงขลา ซึ่งคนใน อ.เทพา ไม่ต้องการและอยากให้ยกเลิก เนื่องจากมีการบิดเบือนรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และจากประสบการณ์เวที ค.1 เมื่อปี 2557 และ ค.2 เมื่อต้นปี 2558 สะท้อนว่าไม่ได้ต้องการความคิดเห็นจากชาวบ้านจริงๆ

“ก่อนการจัดเวที ค.1 ก็มีความพยายามสกัดกั้นไม่ให้มีการจัดเวทีให้ความรู้เรื่องไฟฟ้า มีการเสนอเม็ดเงินจำนวนมากเพื่อรื้อเวที ถ้าไม่ฟังก็ถูกอุ้มหายหรือตายไป และในวันจัดจริงก็มีการเกณฑ์ชาวบ้านจากนอกพื้นที่เข้ามาโดยไม่บอกว่าเป็นเวที ค.1 ส่วนเวที ค.2 ยิ่งไม่รู้เลยว่ามีการจัดเมื่อไร เรารู้อีกทีก็เสร็จสิ้นแล้ว”นายดิเรก กล่าว

นายดิเรก กล่าวอีกว่า การจัดเวที ค.3 ช่วงปลายเดือน ก.ค.นี้ นอกจากจะรวบรัดให้เร็วขึ้นกว่าเดิม 1 เดือนแล้ว ส่วนตัวเชื่อว่าจะเป็นไปในลักษณะเดียวกันกับ ค.1 และ ค.2 คือทหารและตำรวจมาเต็ม อยากขอร้องว่าอย่าให้ชาวบ้านพูดแค่คนละ 5 นาที เพราะเป็นเวทีครั้งสุดท้ายแล้ว

นายธีรพจน์ กษิรวัฒน์ เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน กล่าวว่า ในวันที่ 22 ก.ค.นี้ จะมีการเปิดประมูลการสร้างโรงไฟฟ้า จ.กระบี่ แม้ว่าขณะนี้อีไอเอของโรงไฟฟ้าและท่าเรือขนส่งถ่านหินเสร็จยังระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) และมีช่องโหว่อีกหลายประเด็น ที่สำคัญคือคนในพื้นที่ก็ไม่เคยรู้ว่าเคยมีการจัดเวที ค.2 และ ค.3 ไปแล้ว

นายธีรพจน์ กล่าวว่า ความพยายามสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ก็เพื่อรองรับการเปลี่ยนภาคใต้ให้กลายเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แม้แต่การสร้างเขื่อน การสร้างท่าเรือ ในหลายจังหวัดก็เป็นจิ๊กซอว์ชิ้นหนึ่งของภาพใหญ่ ดังนั้นการสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ จึงเป็นเรื่องของคนใต้ทั้งภาค

นายสันติ โชคชัยชำนาญกิจ นักวิชาการกลุ่มจับตาพลังงาน กล่าวว่า หากพิจารณาจากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (พีดีพี) 2015 แล้ว จะพบว่า ในรอบ 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีการสร้างโรงไฟฟ้ารวม 26 โรง กำลังการผลิต 34,443 เมกะวัตต์ ซึ่งเกินความจำเป็นอย่างมาก

“เรากำลังจะลงทุนเป็นแสนล้านในรอบ 25 ปี โดยที่ไม่มีความจำเป็น และในเมื่อแผนพีดีพี 2015 ประเมินไว้ว่าการใช้ไฟฟ้าจะลดน้อยลงเนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี และในแผนใหญ่มีการใส่แนวทางการอนุรักษ์พลังงานเข้าไป คำถามคือเช่นนั้นแล้วทำไมต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม”นายสันติ กล่าว

นายสันติ กล่าวว่า ภาคใต้มีความต้องการใช้ไฟฟ้า 2,683 เมกะวัตต์ ในขณะที่สามารถผลิตได้ 2,881 ซึ่งถือว่าเพียงพอ และเมื่อเทียบกับภาคกลางที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด 10,440 เมกะวัตต์ แต่มีกำลังผลิตทั้งหมดถึง 22,040 เมกะวัตต์ ซึ่งสะท้อนว่าประเทศไทยมีความมั่นคงด้านไฟฟ้า โดยไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม

น.ส.อาภา หวังเกียรติ หัวหน้าหลักสูตรวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า รัฐบาลทหารรุกคืบโครงการพัฒนาโดยฟังแต่เสียงข้าราชการ ซึ่งอาจถูกกลุ่มทุนผลักดันมาอีกที และท่าทีของนายกรัฐมนตรีก็ชัดว่าเดินหน้าทุกโครงการในแผนพัฒนาภาคใต้แน่

น.ส.อาภา กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้ภาคใต้หลายพื้นที่กำลังเผชิญกับโครงการย่อยๆ มากมาย อาทิ โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล ซึ่งอยู่ระหว่างการทำอีเอชไอเอ โครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 ที่กำลังจะเริ่มเวที ค.1 หลังจากถูกชาวบ้านล้มมาแล้ว โรงไฟฟ้าเทพา จ.สงขลา อยู่ระหว่างจัดเวที ค.3 ท่าเรือชุมพร อยู่ระหว่างจัด ค.2 โรงไฟฟ้ากระบี่ อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของ คชก. ยังไม่นับโครงการรถไฟรางคู่และท่อก๊าซ 3 เส้นทาง ที่ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว