posttoday

เปิดวิสัยทัศน์ "ดร.อุตตม" อธิการบดีป้ายแดง ม.กรุงเทพ

25 มิถุนายน 2558

ในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สถาบันการศึกษาเอกชนชื่อดัง จะมีอธิการบดีป้ายแดง

โดย...นฤมล รัตนสุวรรณ์

ในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สถาบันการศึกษาเอกชนชื่อดัง จะมีอธิการบดีป้ายแดง

สภาวิทยาลัยกรุงเทพมีมติแต่งตั้ง ดร.อุตตม สาวนายน รองอธิบการบดีอาวุโสด้านกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ให้ดำรงตำแหน่ง “อธิการบดี” คนใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2558

วิสัยทัศน์ของ “อุตตม” หลังจากนี้ คือต้องการผลิตบัณฑิตที่มีความคิดแบบสร้างสรรค์ (Creativity) และมีความคิดแบบเจ้าของ (Entrepreneurship)

“มหาวิทยาลัยกรุงเทพได้นำเรื่องความคิดสร้างสรรค์ และความคิดแบบเจ้าของ บรรจุไว้ทุกหลักสูตร ซึ่งนักศึกษาทุกคนต้องได้เรียนรู้เรื่องเหล่านี้ควบคู่กับวิชาการ ขณะเดียวกันในการเรียนการสอนต้องให้นักศึกษาลงมือปฏิบัติจริง และพัฒนาความคิดให้เป็นนวัตกรรมที่เกิดประโยชน์ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยจะเน้นก้าวสู่ความเป็นสากลมากขึ้น ซึ่งไม่ได้เน้นเฉพาะหลักสูตรอินเตอร์เท่านั้น แต่รวมถึงหลักสูตรปกติด้วย”

แน่นอนว่าเทรนด์โลกเปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่มีความต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเอง นั่นทำให้การออกแบบหลักสูตรทางการศึกษาต้องพลิกโฉมตาม ช่วงเวลานี้เองที่ “อุตตม” มองว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะนำพามหาวิทยาลัยก้าวผ่านจุดเปลี่ยนอย่างสมบูรณ์

“เมื่อโลกธุรกิจถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน สังคม เศรษฐกิจไทย ต้องการคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ทางธุรกิจและมีความกล้าทำในสิ่งที่คิด ขณะที่องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนเองก็ต้องการบุคลากรคุณภาพที่มีทั้งความรู้ มีมุมมองสากล และมีทักษะการทำงานอย่างคล่องตัว ฉะนั้นแนวทางการพัฒนาระบบการศึกษาของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงกำหนดยุทธศาสตร์มุ่งไปที่การผลิตบัณฑิตคุณภาพเพื่อให้สอดรับกับความต้องการสังคม”

เพื่อไปสู่เป้าหมายสูงสุดที่วางไว้ มหาวิทยาลัยกรุงเทพจำเป็นต้องผนึกพันธมิตรเข้าด้วยกัน โดยขณะนี้มีแล้ว 3 ส่วน ได้แก่ 1.สถาบันการศึกษาต่างประเทศที่ได้ประสบความสำเร็จในการสร้างเครือข่าย อาทิ ความร่วมมือกับ Babson College ของสหรัฐอเมริกา อันดับหนึ่งด้านการพัฒนาผู้ประกอบการ 2.ความร่วมมือกับภาครัฐ 3.ธุรกิจเอกชน รวมถึงมหาวิทยาลัยชั้นนำในอาเซียน

“ในอนาคตมหาวิทยาลัยที่ยืนอยู่เพียงลำพังจะอยู่ในสังคมไม่ได้อย่างแน่นอน”อธิการบดีคนใหม่ กล่าวชัด

สำหรับมหาวิทยาลัยกรุงเทพซี่งมีจุดเด่นหลายอย่างที่ไม่เป็นรองสถาบันอื่น ทั้งสาขาวิชาบริหารธุรกิจ นิเทศศาสตร์ การท่องเที่ยวและการโรงแรม “อุตตม” บอกว่า หลังจากนี้เราจะต่อยอดจุดเด่นเหล่านี้ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นไปอีก ขณะเดียวกันก็จะสร้างสรรค์จุดเด่นใหม่ๆ ขึ้นมาให้มีพลังขึ้นไปอีก

สำหรับแนวโน้มการศึกษาไทยในศตวรรษที่ 21 เขา แสดงเห็นความเห็นว่า การศึกษาไทยควรมีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงเพื่อก้าวทันประเทศอื่นๆ ด้วยเหตุผลที่ว่าเศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้ การศึกษาไทยจะต้องพลิกโฉมไปสู่การบ่มเพาะให้เกิดทรัพยากรบุคคลมาช่วยประเทศ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความรู้และทักษะ เพื่อให้สอดรับกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบันและอนาคต

“ในยุคที่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นรวดเร็วในบริบททั้งด้านสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยต้องทำหน้าที่ไม่ใช่แค่ผลิตนักศึกษาที่มีความรู้ แต่ต้องเป็นสถาบันแห่งความรู้ที่สังคมธุรกิจ สามารถนำองค์กรที่เรามีไปใช้ประโยชน์เต็มที่ เราจึงเปิดตัวเองออกไปให้กว้างด้วยการสร้างเครือข่ายขยายพันธมิตรการศึกษาและองค์ความรู้ เพราะผลลัพธ์ที่จะได้ทำให้นักศึกษาทั้งที่กำลังศึกษาอยู่และที่จบไปแล้ว รวมทั้งนักธุรกิจ องค์กรธุรกิจในภาคส่วนอื่นๆ ของสังคมได้รับประโยชน์มากที่สุด”