posttoday

สธ.เตรียมยกระดับ "เมอร์ส" เป็นโรคติดต่ออันตราย

11 มิถุนายน 2558

เตรียมประกาศลงราชกิจจาฯ ให้โคโรนาไวรัส2012 เป็นโรคอันตราย ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ 2523 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่สธ.กักตัวเหมือน “อีโบลา”

เตรียมประกาศลงราชกิจจาฯ ให้โคโรนาไวรัส2012 เป็นโรคอันตราย ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ 2523 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่สธ.กักตัวเหมือน “อีโบลา”

เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัดสธ. รักษาการปลัดสธ. เปิดเผยว่า  ผู้เชี่ยวชาญกรมควบคุมโรค เสนอในการที่จะประกาศให้โรคโคโรนาไวรัส 2012 หรือไวรัสเมอร์ส-โควี เป็นโรคติดต่ออันตรายและโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2523 โดยหากพบผู้ป่วย จะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทั้งนี้ จะเร่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ภายใน 1-2 วัน

รักษาการปลัดสธ. กล่าวอีกว่า ขณะนี้ มาตรการของสธ.ยังคงเหมือนเดิม แต่จะเพิ่มอำนาจทางกฎหมายให้แก่เจ้าหน้าที่ในการดำเนินการได้สะดวกขึ้น ให้สามารถกักตัวผู้ต้องสงสัยได้โดยไม่ถือว่าละเมิดสิทธิ อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบผู้ที่เดินทางกลับจากเกาหลีใต้ แล้วเข้ารับการตรวจเชื้อ 11 ราย ผลออกมาเป็นลบ ยังไม่มีผู้ใดเป็นโรคเมอร์ส

สำหรับ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2523 ได้กำหนดโรคติดต่อทั้งสิ้น 3 ประเภท ได้แก่ โรคติดต่อ โรคติดต่ออันตราย และโรคติดต่อต้องแจ้งความ โดยโรคเมอร์สเป็นทั้งโรคติดต่ออันตราย และโรคติดต่อต้องแจ้งความ โดยโรคติดต่อันตรายปัจจุบันมีทั้งสิ้น 6 โรค ได้แก่ 1.อหิวาตกโรค 2. กาฬโรค 3. ไข้ทรพิษ 4.ไข้เหลือง 5.โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือซาร์ส และล่าสุด 6.คือโรคติดเชื้ออีโบลา โดยโรคเมอร์สจะถือเป็นโรคที่ 7 ที่กำหนดให้เป็นโรคติดต่ออันตราย

ขณะที่โรคติดต่อต้องแจ้งความมีทั้งสิ้น 21 โรค ได้แก่ 1.อหิวาตกโรค 2.กาฬโรค 3.ไข้ทรพิษ 4.ไข้เหลือง 5.ไข้กาฬหลังแอ่น 6.คอตีบ 7.โรคบาดทะยักในทารกแรกเกิด 8.โปลิโอ 9.ไข้หวัดใหญ่ 10.ไข้สมองอักเสบ 11.โรคพิษสุนัขบ้า 12.ไข้รากสาดใหญ่ 13.วัณโรค 14.แอนแทร็กซ์ 15.โรคทริคิโนซิส 16.โรคคุดทะราด เฉพาะในระยะติดต่อ 17.โรคอัมพาตกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียกอย่างเฉียบพลันในเด็ก 18.โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง 19.ไข้ปวดข้อยุงลาย (พ.ศ. 2552) 20.ไข้เลือดออก (พ.ศ. 2552) 21.โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา (พ.ศ. 2557) ซึ่งโรคเมอร์ส จะถือเป็นโรคที่ 22 โดยหากพบผู้ป่วยแล้วไม่แจ้ง หรือไม่ยอมเข้ารับการรักษา หรือยินยอมถูกกักตัว จะมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท