posttoday

แพงเจียนกระอัก

02 กรกฎาคม 2553

ผัก-ไข่-น้ำตาลแพง ดันเงินเฟ้อ มิ.ย.พุ่ง 3.3% สูงติดกัน 9 เดือน ครึ่งปีเฟ้อ 3.5% ฮอตไลน์ปรองดองวันแรก ด่าของแพงมากสุด

ผัก-ไข่-น้ำตาลแพง ดันเงินเฟ้อ มิ.ย.พุ่ง 3.3% สูงติดกัน 9 เดือน ครึ่งปีเฟ้อ 3.5% ฮอตไลน์ปรองดองวันแรก ด่าของแพงมากสุด

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปหรือเงินเฟ้อซึ่งสะท้อนราคาสินค้าเดือน มิ.ย. 2553 เท่ากับ 108.15 เพิ่มขึ้น 3.3% เทียบกับเดือน มิ.ย.ปีก่อน ซึ่งเป็นการสูงขึ้นต่อเนื่องเดือนที่ 9 ติดต่อกัน และสูงขึ้น 0.26% เทียบกับเดือน พ.ค.ปีเดียวกัน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย. 2553) เพิ่มขึ้น 3.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ปัจจัยทำให้เงินเฟ้อเดือนมิ.ย.เพิ่มขึ้น 3.3% เป็นผลจากดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นถึง 6.1% โดยเฉพาะผักสดที่ราคาเพิ่มขึ้น 45.2% ผลไม้สด 25% ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง 10.2% เนื้อสัตว์เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ 2% อาหารบริโภคนอกบ้าน 1% ขณะดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 1.5% เป็นผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้น 6.4% ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำประปา 2%

“เงินเฟ้อช่วงครึ่งปีแรกสูงขึ้น 3.5% ส่วนใหญ่มาจากราคาอาหารสดสูงขึ้น โดยเฉพาะผักแพงขึ้น 20.1% ผลไม้สด 15.8% ไข่ไก่ 8.1% น้ำตาลทราย 5.3% เนื้อสัตว์ 4.2% ทำให้กระทรวงพาณิชย์ต้องมีมาตรการดูแลสินค้าเหล่านี้พิเศษ เช่น ไข่ไก่ และน้ำตาลทราย เพราะจะมีผลกระทบสินค้าอื่น เช่น อาหารสำเร็จรูป” นายยรรยง กล่าว

อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้นถือเป็นการขยายตัวที่มีเสถียรภาพตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก และแม้ไทยประสบปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองช่วง 2 เดือนก่อนหน้านี้ เงินเฟ้อที่ยังเพิ่มต่อเนื่องทำให้ปีนี้กระทรวงพาณิชย์จะไม่ปรับเป้ากรอบเงินเฟ้อทั้งปี 3-3.5% ภายใต้สมมติฐานน้ำมันดิบดูไบ 70-80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 31-33 บาท/เหรียญสหรัฐ และการคงมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐบาลในบางส่วน

“แนวโน้มเงินเฟ้อครึ่งปีหลังคาดว่าจะขยายตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป เฉลี่ยเดือนละ 3-3.5% และไม่คิดลดกรอบเงินเฟ้อ 3-3.5% ซึ่งเหมาะกับการขยายตัวเศรษฐกิจไทย 5-6% ” นายยรรยง กล่าว

สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานคำนวณจากสินค้าและบริการ 300 รายการ หักกลุ่มอาหารสดและพลังงาน 117 รายการ เดือน มิ.ย. 2553 เท่ากับ 103.63 สูงขึ้น 1.1% เทียบกับเดือน มิ.ย. 2552 และสูงขึ้น 0.12% เทียบกับเดือน พ.ค.ปีเดียวกัน

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงผลการรับโทรศัพท์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตาม

“โครงการ 6 วัน 63 ล้านความคิด ร่วมเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย” ที่รัฐบาลเปิด 300 คู่สาย รับระหว่างวันที่ 1-6 ก.ค.นี้ สรุปผลวันแรก ประชาชนโทรศัพท์เข้ามากว่า 2,000 สาย ประเด็นที่แสดงความคิดเห็นอันดับ 1 คือ ปัญหาความเดือดร้อนภาคครัวเรือน เช่น หนี้นอกระบบ สินค้าราคาแพง การควบคุมราคาสินค้า หรือการแก้ไขปัญหาความยากจน อันดับ 2 คือ ปัญหาการเมือง