posttoday

จุฬาฯชี้เชื้อ“เมอร์ส”หากติดแล้วคนสูงวัยเสี่ยงตายสูง

05 มิถุนายน 2558

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้เชื้อ“ไวรัสเมอร์ส” หากติดแล้วคนสูงวัยเสี่ยงตายสูง

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้เชื้อ“ไวรัสเมอร์ส” หากติดแล้วคนสูงวัยเสี่ยงตายสูง

เวลา 10.00 น. วันที่ 5 มิ.ย. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวหัวข้อ “มหันตภัยโรคทางเดินหายในตะวันออกกลาง หรือ เมอร์สควี” โดยศ.นพ.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล ผู้ช่วยอธิการบดีจุฬาฯ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ป้องกันและโรคติดเชื้อ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือเมอร์สโควี ที่ระบาดในประเทศเกาหลีใต้ขณะนี้ ต้นทางของเชื้อโรคดังกล่าวอยู่ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ที่พบโรคนี้เมื่อปี 2555 โดยมีผู้ป่วยรายแรกจากประเทศซาอุดิอาระเบียเป็นชายอายุ  60 ปี ซึ่งมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ และมีอาการปอดบวม ก่อนที่อาการจะทรุดหนักลงภายใน 2 สัปดาห์และเสียชีวิต โดยสาเหตุเป็นการสัมผัสกับอูฐ จึงมีการนำเสมหะของผู้ป่วยไปตรวจสอบและพบเชื้อดังกล่าว โดยหลังจากวันแรกที่พบเชื้อถึงปัจจุบันมีผู้ป่วยแล้ว 1179 8น เสียชีวิตไป 442 คน หรือคิดเป็น 37.5%

ศ.นพ.นรินทร์ กล่าวอีกว่า การติดเชื้อของโรคหากเข้าสู่คนแล้วจะติดต่อกันโดยการสัมผัส หรือการไอจาม และเป็นการสัมผัสผู้ป่วยโดยตรงในระยะเวลาเพียงแค่ 5 นาทีก็อาจติดเชื้อได้ ระยะฟักตัวของโรคเมอร์สโควีอยู่ในระยะเวลา 2 สัปดาห์ กลุ่มวัยอายุสามารถติดต่อได้ทุกวัย แต่ภูมิต้านทานของโรคจะอยู่ที่สุขภาพของผู้ป่วย หากเป็นผู้สูงวัยโอกาสเสียชีวิตจะมีสูงมากกว่าเด็กหรือวัยรุ่น ทั้งนี้ ปัญหาของโรคเมอร์สโควีที่ผ่านมาจะอยู่ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง แต่ล่าสุดมีการแพร่ของโรคดังกล่าวที่ประเทศเกาหลีใต้ และประเทศจีน เกาะฮ่องกง ฟิลิปปินส์ และประเทศมาเลเซีย จึงทำให้ประเทศไทยก็ต้องเฝ้าระวังไว้เช่นกัน

“ทั้งนี้ แนวทางป้องกันและควบคุมกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้ทุกโรงพยาบาลต้องคัดกรองผู้ป่วยกรณีที่ต้องสังสัยและกักเชื้อโรคเพื่อตรวจสอบในระยะเวลาฟักตัวคือ 2 สัปดาห์ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศ ขณะที่บริเวณท่าอากาศยานต่างๆ จะมีเครื่องตรวจโรคอีโบล่า ซึ่งจะสามารถประยุกต์มาใช้ตรวจสอบผู้เดินทางที่มีอาการป่วยได้เช่นกัน” ศ.นพ.นรินทร์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการระบาดของโรคเมอร์สโควียังไม่น่ากังวล เพราะจากการศึกษาพบว่าโรคดังกล่าวแพร่กระจายในชุมชนเป็นวงกว้างน้อยมากกว่าโรคหัด หวัด หรือเอดส์ และยังไม่พบว่าโรคดังกล่าวสามารถแพร่ถึงกันได้ผ่านทางอากาศด้วย แต่ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่เดินทางไปประเทศกลุ่มตะวันออกกลาง หรือประเทศเกาหลีใต้ หากกลับมาแล้วมีอาการป่วยที่มีลักษณะคล้ายไข้หวัดใหญ่ ก็ควรพบแพทย์และรายงานประวัติการเดินทางด้วยทันที

ด้านศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลีนิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมานับตั้งแต่มีโรคประเทศไทยเคยนำเข้าเชื้อโรคเมอร์สที่ถูกฆ่าแล้วไม่สามารถแพร่ระบาดได้มาจากประเทศเนเธอแลนด์ เพื่อนำมาศึกษาวิจัย กระทั่งปัจจุบันนี้สามารถตรวจหาเจอโรคด้วยการตรวจสอบทางพันธุกรรมได้ในระยะเวลาราว 4-6 ชั่วโมง ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่าโรคเมอร์สเป็นเชื้อไวรัสขนาดใหญ่ที่มองเห็นได้จากกล้องจุลทรรศน์ อย่างไรก็ตาม โอกาสติดเชื้อจากคนสู่คนนั้นจะน้อยกว่าโรคซาร์ที่แพร่ระบาดเมื่อกว่า 10 ปีก่อนประมาณ 5 เท่า ดังนั้นจึงขอให้สบายใจ

ศ.นพ.ยง กล่าวว่า ส่วนที่ประเทศเกาหลีใต้ที่แพร่ระบาดของโรคนี้นั้น เกิดจากความไม่เข้าใจและไม่รู้ว่าผู้ป่วยติดเชื้อ จึงทำให้แพร่กันได้ผ่านการสัมผัส แต่ขณะนี้ทราบว่าประเทศเกาหลีใต้มีการเฝ้าระวังกันแล้วเพราะรู้ถึงต้นตอ อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ต้องการเดินทาไงปประเทศเกาหลีใต้ก็ต้องเพิ่มความระมัดระวัง เพราะอย่าลืมว่ากำลังเดินทางเข้าไปในประเทศที่มีการแพร่ระบาด โดยป้องกันตนได้ด้วยการเฝ้าระวังป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เช่น ทำความสะอาดร่างกาย ล้างมือบ่อยๆ อย่าใช้มือสกปรกสัมผัสตา จมูก ปาก และทำการฆ่าเชื้อโรคบริเวณที่มีการสัมผัสบ่อยๆ และหากกลับมาเมืองไทยแล้วมีอาการป่วยคือ ท้องเสีย มวนทอ้ง และคลื่นไส้อาเจียน มีไข้ ก็ให้รีบพบแพทย์

“ที่เกาหลีใต้ถือว่าเป็นการแพร่กระจายของเชื้อโรคอย่างรวดเร็ว โดยการนำเข้าเชื้อเพียงคนเดียวแต่แพร่ออกไปถึง 30 คน ทั้งนี้อาจเกิดจากความไม่รู้ว่ามีเชื้อของแพทย์ และเป็นการสัมผัสผู้ป่วยโดยตรงจากคนในครอบครัว ซึ่งต่างจากประเทศกลุ่มตะวันออกกลางที่ตรวจพบว่ามีการแพร่ระบาดจากคนสู่คนที่ไปแต่ก็แค่ 2 คนเท่านั้น”

ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า สำหรับการรักษานั้นขณะนี้ยังไม่มียารักษาไวรัสเมอร์โควีได้ แต่การรอดของผู้ป่วยขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานในร่างกาย กลุ่มผู้สูงอายุจะมีโอกาสเสียชีวิตสูง ทั้งนี้ กลุ่มประชาชนที่จะไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่ประเทศกลุ่มตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่พบว่ามีเชื้อโรคดังกล่าวอยู่ในประเทศไทย แต่ก็ยังมีความเสี่ยงโดยเฉพาะกับผู้ที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรคนี้  ตะวันออกกลาง ก็ต้องเฝ้าระมัดระวังในการดูแลตนเองด้วยเช่นกัน

ภาพประกอบข่าว