posttoday

เตรียมเคาะข้อเสนอรวบอำนาจกำหนดสิทธิประโยชน์3กองทุนสุขภาพ

04 มิถุนายน 2558

แพทยสภาติงพ.ร.บ.ประกันสุขภาพภาครัฐ ชี้ที่มาเงินยังต่างทำให้เท่าเทียมกันยาก ส่วนเชื่อเป็นก้าวแรกรวมสามกองทุน

แพทยสภาติงพ.ร.บ.ประกันสุขภาพภาครัฐ ชี้ที่มาเงินยังต่างทำให้เท่าเทียมกันยาก ส่วนเชื่อเป็นก้าวแรกรวมสามกองทุน

เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) คณะอนุกรรมการการศึกษาและจัดทำข้อเสนอการพัฒนากลไกกลางเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ได้จัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใต้โครงการกลไกกลางเพื่อบูรณาการระบบหลักประกันสุขภาพ

ทั้งนี้ ได้มีการนำเสนอ ร่าง พ.ร.บ.กำกับระบบประกันสุขภาพภาครัฐ โดยโอนอำนาจหน้าที่กำหนดสิทธิประโยชน์ ของ 3 กองทุนสุขภาพ มารวมไว้ภายใต้ “คณะกรรมการกำกับระบบสุขภาพภาครัฐ” โดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีตัวแทนกองทุนสุขภาพ 3 กองทุน ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม และ กรมบัญชีกลาง ผู้แทนสถานพยาบาล ผู้แทนองค์กรเอกชน และให้มีกรรมการที่ปรึกษา ได้แก่ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

รวมถึงให้มีการคัดสรร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ทำหน้าที่เสนอแนะด้านงบประมาณสุขภาพแก่คณะรัฐมนตรี พิจารณาเสนอแนะคณะรัฐมนตรีด้านนโยบายสาธารณสุข และให้อำนาจสอดส่องดูแลผู้รับประกัน และผู้ให้บริการ

นอกจากนี้ ให้มีการจัดตั้งสำนักงานกำกับระบบประกันสุขภาพภาครัฐภายใต้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้ได้รับงบประมาณ 0.5% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีด้านประกันสุขภาพทั้งหมดในปีนั้น มีหน้าที่ทำตามมติของคณะกรรมการนโยบายประกันสุขภาพฯ จัดตั้งและพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ร่วมกันในแต่ละกองทุนสุขภาพ ขณะเดียวกัน ให้ทำหน้าที่เจรจา เพื่อจัดตั้งและพัฒนาวิธีชำระค่าบริการและการปรับปรุงระบบบริการสุขภาพของรัฐ รวมถึงมีเลขาธิการทำหน้าที่เป็นผู้บริหารสำนักงาน

สำหรับบทบาทหน้าที่ จะให้อำนาจกำหนดเกณฑ์สิทธิประโยชน์ร่วมกันทุกกองทุน เสนอของบประมาณประจำปีร่วมกันทุกกองทุน รวมถึงกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับคุณภาพการรักษาที่เป็นมาตรฐาน กำหนดบทลงโทษหน่วยงานผู้ให้บริการและหน่วยงานผู้รับประกัน และยังมีอำนาจติดตามและควบคุมสถานพยาบาลอีกด้วย

นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ คณะที่ปรึกษารมว.สาธารณสุข และประธานอนุกรรมการฯ เปิดเผยว่า การร่าง พ.ร.บ.กำกับระบบประกันสุขภาพภาครัฐ ไม่ได้มุ่งหวังให้เกิดกองทุนเดียว และไม่ได้ต้องการให้แต่ละกองทุนต้องเหมือนกันทั้งหมด แต่จะเป็นการสร้างความกลมกลืนเป็นการสร้างเวทีกลางที่จะเกิดการเจรจาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยได้ศึกษาโมเดลของไทยและต่างประเทศเพื่อนำไปสู่การจัดทำกฎหมาย

“หลังจากนี้ คณะอนุกรรมการจะนำความเห็นทั้งหมดที่ได้ ไปเสนอคณะกรรมการประสานงานสามกองทุนสุขภาพ ซึ่งมี ศ.อัมมาร สยามวาลา เป็นประธานในวันที่ 10 มิ.ย.นี้ และหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ก็จะนำเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีโดยตรง และจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาร่างตามลำดับต่อไป”นพ.สุวิทย์กล่าว

ขณะที่ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า เห็นถึงความพยายามที่ดีในการสร้างความกลมกลืนแต่ละกองทุน อย่างไรก็ตาม ในเมื่อที่มาของแต่ละกองทุนต่างกัน เช่น 30 บาทรักษาทุกโรคไม่ต้องจ่ายสมทบ แต่ประกันสังคมต้องจ่าย ก็ยังมองไม่ออกว่าจะทำให้ปลายทางกลมกลืนกันได้อย่างไร นอกจากนี้ อยากเสนอให้รัฐบาลนำโรงพยาบาลเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจกลไกเหล่านี้ด้วย เพราะแต่ละปี ภาคเอกชนมีผู้ป่วยเข้าใช้บริการมากกว่า 55 ล้านครั้งต่อปี และมีเตียงกว่า 3 หมื่นเตียง ซึ่งหากเข้าไปมีส่วนร่วมอาจทำให้ระบบประกันสุขภาพของรัฐสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ขณะที่ นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า กฎหมายที่กำลังร่างยังมีลักษณะเหมือนปะผุ หรืออุดช่องโหว่ เรื่องสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกันเท่านั้น ประเด็นสำคัญที่ยังต้องพูดถึงก็คือที่มาของเงินในแต่ละกองทุนว่าเมื่อแตกต่างกัน จะทำให้สิทธิประโยชน์เท่าเทียมกันได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม เห็นว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ อาจเป็นก้าวแรกที่นำไปสู่การรวมกองทุนสุขภาพให้เหลือกองทุนเดียวในอนาคต เพราะในเมื่อเสนอของบประมาณไปพร้อมกัน และมีการกำหนดสิทธิประโยชน์ภายใต้คณะกรรมการชุดเดียวกันแล้ว รัฐบาลในอนาคตก็อาจทำความเข้าใจได้ว่า ไม่มีความจำเป็นต้องแยกเป็นหลายกองทุนสุขภาพอีกต่อไป