posttoday

เครือข่ายเยาวชนร้องสปช.ค้านกม.กองทุนพัฒนาดิจิทัล

19 มีนาคม 2558

เครือข่ายพัฒนาเด็ก เยาวชน​ ยื่น สปช. ค้านร่างพ.ร.บ.กองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ หวั่นกระทบกองทุนพัฒนาสื่อสร้างสรรค์เด็กฯ

เครือข่ายพัฒนาเด็ก เยาวชน​ ยื่น สปช. ค้านร่างพ.ร.บ.กองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ หวั่นกระทบกองทุนพัฒนาสื่อสร้างสรรค์เด็กฯ

น.ส.รัตนา ปานกลิ่น  ผู้ประสานงานสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน  พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านพัฒนาเด็กและเยาวชน เขายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อนายจุมพล รอดคำดี  ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยี สภาปฏิรูปแห่งชาติ  เพื่อคัดค้านร่างพ.ร.บ.กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ...เนื่องจากกังวลว่าจะเข้าข้างนายทุน ส่งผลกระทบต่อเยาวชนและประชาชนทั่วไปที่จะได้เข้าถึงกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเราใช้เวลาถึง 11 ปี ผลักดันให้ร่างพ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อฯ  จะผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  จึงเป็นห่วงว่า ร่างพ.ร.บ.เศรษฐกิจดิจิทัลที่ครม.ผ่านความเห็นชอบ10 ฉบับ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ร่างพ.ร.บ.กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ... ที่มีสาระสำคัญคือยกเลิกกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม  รวมถึงเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในการจัดงบประมาณให้กับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงเกรงว่าจะส่งผลกระทบโดยรวมต่อการสนับสนุนและพัฒนาสื่อที่ดีและสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน          

สำหรับเหตุผลที่เครือข่ายไม่เห็นด้วยกับ ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว คือ 1.จะมีผลกระทบตามมาเนื่องจากไม่มีหลักประกันว่าการใช้เงินกองทุนใหม่จะเป็นไปเพื่อสนับสนุนพัฒนาสื่อที่ดีอย่างแท้จริง  แม้จะยังคงมีการจัดสรรเงินให้กองทุนพัฒนาสื่อฯ แต่กลับเน้นพัฒนาสื่อเพื่อดิจิทัลเป็นหลัก และยังขยายนิยามขอบเขตการใช้เงินครอบคลุมไปถึงการกู้ยืมลงทุนและซื้อที่ดิน ไม่ตรงกับเจตนารมณ์และเป้าหมายของกองทุนนี้ 2.ไม่ให้ความสำคัญกับมิติทางสังคมเพราะไม่มีการระบุประเด็นที่สนับสนุนความเข็มแข็งของผู้บริโภค

และ 3.คณะกรรมการกองทุน มีเพียงผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการ การเงิน และเทคโนโลโยลีดิจิทัล แต่ขาดองค์ประกอบผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมและการคุ้มครองผู้บริโภค  ดังนั้นหากจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆที่ส่งผลกระทบต่อหลักการจัดสรรงบให้กับกองทุนพัฒนาสื่อฯ ควรต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์การใช้เงินที่ชัดเจนและตรงกับเจตนารมณ์ ที่ให้เกิดการพัฒนาและส่งเสริมการผลิตสื่อที่ดีและการรู้เท่าทันสื่อที่เป็นประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชนอย่างแท้จริง