posttoday

ผลสำรวจพบ "สิงห์บุรี" สุขที่สุดในไทยส่วนชลบุรีอันดับโหล่

18 มีนาคม 2558

กรมสุขภาพจิตสำรวจพบคนไทยสุขมากขึ้นหลังรัฐประหาร ไทยสุขอันดับ36ของโลก อันดับ 2 ของอาเซียน

กรมสุขภาพจิตสำรวจพบคนไทยสุขมากขึ้นหลังรัฐประหาร ไทยสุขอันดับ36ของโลก อันดับ 2 ของอาเซียน

เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ที่กรมสุขภาพจิต นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต แถลงตัวเลขความสุขของคนไทยในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2557 พบว่า จังหวัดที่มีความสุขมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จ.สิงห์บุรี จ.บึงกาฬ จ.ลำพูน จ.พิจิตร และ จ.แพร่ ส่วนจังหวัดที่มีความสุข 5 อันดับสุดท้าย คือ จ.ชลบุรี รองลงมา คือ จ.สมุทรปราการ จ.สุโขทัย จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.สระแก้ว โดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) อยู่ลำดับที่ 44

ทั้งนี้ พบว่า ภาคเหนือมีความสุขสูงสุด ซึ่งมาจากการมีสิ่งแวดล้อม ชุมชนมีสายสัมพันธ์ที่ดี มีการช่วยเหลือเกื้อกูลเป็นชุมชน ทั้งนี้ จะมีการสำรวจเชิงคุณภาพต่อไปว่าความสุขในแต่ละพื้นที่มาจากปัจจัยใดบ้าง

นอกจากนี้ ยังพบว่า ภาคเหนือ เป็นภาคที่สามารถคุยกันเรื่องการเมืองได้มาก ส่วน กทม. พบว่า คุยกันเรื่องการเมืองได้น้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม พบว่าการเปลี่ยนแปลงหรือสถานการณ์ใหญ่ๆ ก็จะทำให้เกิดผลกระทบกับประชาชนได้

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ประเทศที่มีความสุขมากที่สุดอันดับ 1 คือ เดนมาร์ก ส่วนประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 36 ของโลก และที่ 2 ของอาเซียน ทั้งนี้ โดยในปี 2557 ช่วงครึ่งปีหลังความสุขของคนไทยค่อยๆ ดีขึ้น     

ขณะที่ น.ส.รัจนา เนตรแสงทิพย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า จากการสำรวจระหว่างปี 2551 - 2557 พบว่า ความสุขของคนไทยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สภาพสังคม จะเพิ่มขึ้นและลดลงสอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น ความสุขในกลุ่มผู้สูงอายุ เพิ่มขึ้นเมื่อมีนโยบายเบี้ยยังชีพ 500 บาท หรือ ความสุขลดลงในปี 2554 ทั้งประเทศ เนื่องจากปัญหาน้ำท่วม เป็นต้น โดยในปี 2557 พบว่าค่าคะแนนความสุขประชาชนลดลงอยู่ที่ 32.06 จากปี 2555 อยู่ที่ 33.59 และ ปี 2556 อยู่ที่ 33.35 โดยต่ำสุดในไตรมาส 2 ซึ่งอยู่ที่ 31.30 อย่างไรก็ตาม หลังการทำรัฐประหาร ความสุขเริ่มเพิ่มขึ้นในไตรมาสต่อมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าแนวโน้มความสุขของประชาชนจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2558  

นอกจากนี้ ยังพบว่า เพศชาย มีความสุขมากกว่าเพศหญิงและคนที่แต่งงานแล้ว มีความสุขมากกว่าคนโสด โดยในกลุ่มผู้สูงอายุพบว่า ผู้ที่ยังทำงาน ผู้ที่มีเงินออม ผู้ที่มีความเสี่ยงทางสุขภาพต่ำ จะมีความสุขมากกว่า และผู้สูงอายุที่ไม่มีคนดูแลพบว่า เสี่ยงต่อการเกิดซึมเศร้าเกือบ 30% สำหรับปัจจัยต่างๆ ทำให้เกิดความสุขพบว่า คนที่มีเพื่อนคอยช่วยเหลือ ยิ่งมากยิ่งมีความสุขมากกว่า สำหรับด้านเศรษฐกิจ พบว่า กลุ่มที่มีรายได้มากที่สุด จะมีความสุขห่างจากกลุ่มอื่น ส่วนคนที่มีรายได้ปานกลาง ไปถึงรายได้น้อย ถือว่ายังมีความสุขในระดับปานกลาง ซึ่งเรื่องเศรษฐกิจนั้น ยังมีความสัมพันธ์กับรายจ่าย หนี้สินด้วย