posttoday

กรมศิลป์แจ้งความผู้ทำลายโบราณสถานวัดดังฝั่งธนฯ

17 มีนาคม 2558

อธิบดีกรมศิลปากรแจ้งความเอาผิดผู้ทำลายโบราณสถานสำคัญภายในวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร

อธิบดีกรมศิลปากรแจ้งความเอาผิดผู้ทำลายโบราณสถานสำคัญภายในวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร

เมื่อวันที่ 17 มี.ค. เวลา 11.30 น. ที่ สน.บุปผาราม นายบวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร เข้าแจ้งความกับ พ.ต.อ.ณัฏฐ์พัชร์ ผดุงจันทน์ ผกก.สน.บุปผาราม และ พ.ต.อ.วรวิทย์ ญาณจินดา พนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ สน.บุปผาราม ให้ดำเนินการกับผู้สั่งการและคนงานซึ่งทำลายโบราณสถานสำคัญภายในวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ถนนอรุณอมรินทร์ตัดใหม่ แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กทม.โดยให้ดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งทางอาญาและแพ่งอย่างถึงที่สุด

นายบวรเวท กล่าวว่า วันนี้กรมศิลปากรเดินทางมาพบพนักงานสอบสวน สน.บุปผาราม ให้ดำเนินคดีกับผู้ทำลายโบราณสถานภายในวัดกัลยาณมิตรฯ ซึ่งทางกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเอาไว้แล้ว ทั้งนี้ที่ผ่านมาก็มีปัญหากันมาตลอดตั้งแต่ ปี พ.ศ.2546 โดยมีชาวบ้านและหน่วยงานราชการแจ้งข้อมูลให้กับกรมศิลปากรเป็นระยะๆ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมา นิติกรของกรมศิลปากรพร้อมคณะได้เดินทางมาตรวจสอบโบราณสถานภายในวัด พบการกระทำผิดซึ่งหน้ามีคนงาน 2 คน กำลังรื้อหลังคาศาลาราย จำนวน 1 ใน 4 ที่หลังตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัด โดยไม่แจ้งให้กรมศิลปากรทราบก่อน ทางนิติกรจึงบอกให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เดินทางไปด้วยทำการเข้าจับกุมคนงานทั้ง 2 คน ส่งพนักงานสอบสวน สน.บุปผาราม และในที่สุดตนต้องเตรียมเอกสารเข้ามาแจ้งความอีกครั้งในวันนี้เพื่อหาตัวผู้กระทำความผิดในระดับสั่งการด้วยตนเอง

นายบวรเวท กล่าวว่า โบราณสถานภายในวัดกัลยาณมิตรฯปลูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชการที่ 3 มีอายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี ที่สำคัญกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนอนุรักษ์เอาไว้แล้ว ตามระเบียบทางผู้ใดต้องการปรับปรุงซ่อมแซมบูรณะเพิ่มเติม ก็สามารถแจ้งต่อกรมศิลปากรได้เพราะเราจะส่งสถาปนิกและผู้เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมดำเนินการ แต่สำหรับผู้ดูแลวัดกัลยาณมิตรฯนั้นไม่ทำตามระเบียบ ละเมิดกฎหมายเป็นระยะๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 มีการแจ้งความเอาไว้แล้วรวมครั้งนี้ จำนวน 10 คดี จากกรณีรื้อถอนทำลายโบราณสถาน จำนวน 17 ชนิด อาทิ กุฏิพระสงฆ์ หอระฆัง หอกลอง หอสวดมนต์ และศาลาปั้นหยา การเดินทางมาแจ้งความในวันนี้ก็เพื่อให้ตำรวจดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญากับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยจะดำเนินการทางอาญาก่อนในข้อหาทำลายโบราณสถาน มีโทษจำคุก 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แล้วจะบังคับคดีความทางแพ่งให้ผู้กระทำความผิดซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างที่ถูกทำลายให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิมต่อไป

ด้าน พ.ต.อ.ณัฏฐ์พัชร์ กล่าวว่า หลังจากนี้จะทำการสอบปากคำและตรวจหลักฐานที่ นายบวรเวท นำมามอบให้กับพนักงานสอบสวน อย่างละเอียดเพื่อหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีส่วนหลักฐานจะถึงใครบ้างนั้นเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะ พระธรรมเจดีย์ (ประกอบ ธมฺมเสฏฺโฐ) เจ้าอาวาสนั้นหากมีพยานหลักฐานเชื่อมโยงไปถึงก็จะต้องนิมนต์มาสอบปากคำเพื่อดำเนินการตามกฎหมายด้วยเช่นกัน