posttoday

เครือข่ายภาคประชาชนร่วมถกสถานการณ์น้ำ

13 มีนาคม 2558

เครือข่ายภาคประชาชนร่วมถกสถานการณ์แม่น้ำ ยกระดับการต่อสู้จากรับเป็นรุกมากขึ้น เผยติดสินบนคนทำงาน-สร้างความอ่อนแอ

เครือข่ายภาคประชาชนร่วมถกสถานการณ์แม่น้ำ ยกระดับการต่อสู้จากรับเป็นรุกมากขึ้น เผยติดสินบนคนทำงาน-สร้างความอ่อนแอ
 
เมื่อวันที่ 13 มี.ค.58 ที่โฮงเฮียนแม่น้ำโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ได้มีการจัดงาน“2 ทศวรรษน้ำโขงกับการพัฒนา” โดยชาวบ้านและผู้ที่เกี่ยวของมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง ซึ่งภายในงานได้มีพิธีสืบชะตแม่น้ำโขงาและปล่อยปลาลงแม่น้ำ นอกจากนี้ยังมีเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนระหว่างเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงและคนลุ่มน้ำต่างๆ

นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้าน นา กล่าวว่า หลังจาก 2 ทศวรรษที่แม่น้ำโขงมีโครงการพัฒนาเพิ่มขึ้น มีเหตุการณ์หลายอย่างที่สร้างกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของเครือข่ายภาคประชาชน โดยในทศวรรษที่ 2 นี้การต่อสู้จะยกระดับจากการต่อสู้แบบเชิงรับไปเป็นเชิงรุกและทำในลักษณะการสร้างแนวคิดร่วม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในเรื่องการปกป้องทรัพยากร ซึ่งอนาคตอาจจะร่วมขับเคลื่อนทั้งแนวค้านเขื่อนต่างๆในลุ่มน้ำโขงที่เชื่อม ร้อยกับเขื่อนสาละวิน ซึ่งล้วนแต่เป็นแม่น้ำนาๆชาติของประชาชนสองฝั่งแม่น้ำ

นางสาวคำปิ่น อักษร ผู้ประสานงานกลุ่มคนฮักน้ำของ จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ตัวอย่างในการเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่เห็นผลชัดเจนที่สุด กรณีการค้านเขื่อน คือ กลุ่มคัดค้านเขื่อนบ้านกุ่ม จังหวัดอุบลราชธานี เนื่องจากมีความร่วมมือหลายฝ่ายทั้งมหาวิทยาลัย ภาคประชาชน ภาคการเมือง เช่น กลุ่มสมาชิกวุฒิสภาที่เข้ามาสร้างกระบวนการเรื่องทำประชาคม อย่างมีหลักธรรมาภิบาลเพราะแต่เดิมโครงการเขื่อนบ้านกุ่มเป็นการลงนามร่วมกันระหว่างรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช กับบริษัทที่สร้างเขื่อน โดยโครงการดังกล่าวไม่มีกระบวนการประชาคมที่เข้ามาถึงระดับจังหวัด เมื่อมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบเป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นตามหลักยุติธรรม และชาวบ้านกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวมข้อมูล เก็บหลักฐานไว้ได้ ประกอบกับการสร้างกระแสทางสังคมทำให้สามารถชะลอโครงการได้

นางสาวคำปิ่นกล่าวว่า กรณีเขื่อนดอนสะโฮงที่สีพันดอน สาธารณะประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) นั้นต่อต้านยาก เพราะโครงการเป็นอำนาจของรัฐบาลฝ่ายเดียว และหลักธรรมมาภิบาลในลาวก็ต่างกันกับๆไทย

นางสาวอ้อมบุญ ทิพย์สุนา ผู้ประสานงานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบล 7 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ภาคอีสาน กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ลุ่มน้ำโขงภาคเหนือและภาคอีสานล้วนแล้วน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งโดยนอกจากความกังวลเรื่องระดับน้ำโขงขึ้น-ลงผิดปกติแล้ว ยังมีประเด็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเข้ามาสร้างความระแวงให้ชาวบ้านอีกด้วย โดยข้อสังเกตว่าหลังผ่านพ้นทศวรรษที่ 2 ของการพัฒนาลุ่มน้ำโขงจากโครงการสร้างเขื่อนมาแล้วนั้นพบว่า ขณะนี้รัฐบาลพยายามจะผลักดันเศรษฐกิจพิเศษในลุ่มน้ำโขงอย่างเร่งด่วน ยิ่งเป็นการสร้างความทุกข์ให้ชาวบ้านลุ่มน้ำโขงมากขึ้น

“ความอ่อนแอของประชาชนตอนนี้คือ เครือข่ายบางส่วนถูกฝ่ายสนับสนุนโครงการพัฒนาต่างๆ ตามประกบ ติดตาม ข่มขู่ และออกอุบายช่วยเหลือสนับสนุนด้านต่างๆด้วย ทำให้ภาคประชาชนบางส่วนมีความอ่อนแอดังนั้นในการเคลื่อนงานในอนาคตต้องพยายามผลักดันเรื่องความเข้มแข็งของชุมชน มากขึ้น” นางสาวอ้อมบุญ กล่าว

ด้านนายพงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ ผู้ประสานงานเครือข่ายจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำสาละวิน กล่าวว่า ขณะนี้การเคลื่อนไหวของชาติพันธ์ต่างๆลุ่มน้ำสาละวิน มีความเป็นไปในทางที่เข้มแข็งขึ้น เพราะทุกคนมองแม่น้ำสาละวินเป็นแม่น้ำแห่งชีวิต ความผูกพัน ประกอบกับการสู้รบในพื้นที่รัฐต่างๆระหว่างกองกำลังชาติพันธุ์และกองทัพทหารพม่าด้วยแล้ว ความเสี่ยงของการสู้รบร่วมกับการทำงานอย่างเข้มแข็ง ของชุมชนช่วยให้การคัดค้านโครงการพัฒนาต่างๆง่ายขึ้นและตั้งใจว่าจะร่วมกัน ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำสาละวินไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอบแม่น้ำโขง