posttoday

คณะทำงานสื่อเสนอแนวทางปฏิรูปต่อสปช.

11 มีนาคม 2558

คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป เสนอแนวทางปฏิรูปสื่อต่อสปช. ให้ตั้งคณะกรรมการจริยธรรมอยู่ในทุกองค์กรสื่อ-ใช้กลไกสภาวิชาชีพกลางกำกับ

คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป เสนอแนวทางปฏิรูปสื่อต่อสปช. ให้ตั้งคณะกรรมการจริยธรรมอยู่ในทุกองค์กรสื่อ-ใช้กลไกสภาวิชาชีพกลางกำกับ

คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย , สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, ประธานสภาการหนังสือพิมพ์, สภาวิชาชีพฯ ได้ยื่นข้อเสนอแนะแนวทางและกลไกการกำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่เหมาะสมของไทย ต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)หรือ สปช. ซึ่งมีนายจุมพล รอดคำดี สปช. เป็นประธาน

นายเทพชัย หย่อง ประธานคณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป  ในฐานะประธานคณะกรรมการจริยธรรมวิชาชีพข่าว สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ กล่าวว่า ข้อเสนอการปฏิรูป หลักการ คือ ต้องยืนตามสิทธิเสรีภาพของสื่อ และการมีกลไกเข้ามากำกับวิชาชีพ ซึ่งเสรีภาพของสื่อมวลชน ไม่ใช่แค่เสรีภาพสื่อ แต่ยังหมายถึง เสรีภาพการรับรู้ข่าวสารของคนในสังคมด้วย แม้ที่ผ่านการองค์กร กลไก การกำกับดูแลสื่อ ไม่ได้ผล 100%

ทั้งนี้ กลไกลที่คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูปต้องการนำเสนอ คือ ต้องการเห็นคนทำสื่อรับผิดชอบมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา จึงเสนอให้มีการกำกับดูแลของสื่อ 2 ระดับ คือ ระดับองค์กรสื่อ โดยให้มีคณะกรรมการจริยธรรมอยู่ในทุกองค์กร เหมือนเช่นบางประเทศ เพื่อมาจัดทำมาตรฐานของแต่ละองค์กร และมีช่องทาง กลไก รับเรื่องร้องเรียน โดยต้องมีการพิจารณาและเยียวยาด้วย

อย่างไรก็ดี แต่สัดส่วนของคณะกรรมการจริยธรรมนี้ จะขึ้นอยู่กับสัดส่วนขององค์กร และต้องเป็นคนนอก เช่น นักวิชาการ หรือ ผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งต้องมีรายงานประจำปี เช่น แหล่งที่มาของรายได้ของ เพื่อความโปร่งใส และทำให้เห็นการเชื่อมโยงแหล่งที่มาของ บริษัท รวมถึงการรับเรื่องร้องเรียน และการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพสื่อ เพื่อให้องค์กรสื่อ แสดงความรับผิดชอบสื่อของตัวเอง

นอกจากนี้ มีกลไกสภาวิชาชีพกลาง มากำกับให้อยู่ใต้มาตรฐานจริยธรรม ที่ทุกองค์กรสื่อ ต้องเป็นสมาชิก จะไม่เกิดเหตุว่า ไม่พอใจการตรวจสอบก็ลาออกจากการเป็นสมาชิก ซึ่งการมีสภาวิชาชีพกลางจะเป็นการขยายประเด็นในการพิจารณา หากมีผู้ไม่พอใจการตรวจสอบจากองค์กรสื่อ ส่วนกฎหมายที่รองรับในการนำเรื่องไปสู่การพิจารณาของศาลนั้น ยังเป็นประเด็นที่ยังต้องขอความเห็นจากกมธ.

“คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูปคิดว่า 2 กลไกนี้ จะทำให้สังคม มีความมั่นใจมากพอว่า สื่อมีการกำกับ และถูกกำกับด้วย เพราะที่ผ่านมามีการวิพากษ์วิจารณ์สื่อ ว่า ไม่รับผิดชอบ ขณะที่เจ้าของสื่อมักจะลอยนวลเสมอ แต่ถึงเวลาแล้ว ที่เจ้าของสื่อ ควรจะแสดงความโปร่งใส ซึ่งหากมีสภาวิชาชีพผู้ผลิตสื่อฯ เพื่อตกลงมาตรฐานทางวิชาชีพร่วมกัน จะเป็นการปกป้องเสรีภาพของคนทำงานสื่อ จะทำให้มีความโปร่งใส และ ถูกตรวจสอบได้มากขึ้น รวมถึงผลักสิทธิเสรีภาพได้ ”นายเทพชัย กล่าว

ขณะที่ นายภัทระ คำพิทักษ์ ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ กล่าวว่า งานด้านปฏิรูปสื่อ เป็นงานที่ยากใน 11 ด้านที่มีการปฏิรูป เพราะสื่อฯปฏิรูปกันมาเป็นสิบๆปี นำคนนอกเข้ามาหรือมีภาคประชาชนมาร่วม แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ สื่อส่วนหนึ่ง ไม่ได้อยู่ในระบบ  การออกแบบต้องมองทั้งระบบว่า เกิดขึ้นได้หรือไม่ ทางออกที่เหมาะสมที่สุด คือ การออกกฎหมาย มาบังคับ และการการควบคุมกันเอง

“คิดว่า 16-17 ปี ที่ทำมา กระบวนการพัฒนาไปพอสมควร  แต่เมื่อปฏิรูปสื่อ จะทำอย่างไรให้ทั้งระบบไปด้วยกัน และทำให้สื่อทั้งหลายไปอยู่ในสังกัด และบังคับให้มีสภาวิชาชีพของตัวเอง ซึ่งจะมีกี่สภาฯก็ได้ แต่ต้องมีจริยธรรมและมาตรฐาน ไม่น้อยกว่าที่สังคมรับได้ และต้องมี มาตรฐานจริยธรรมของตัวเอง เช่น ไทยพีบีเอส เป็นต้น”นายภัทระ กล่าว

ทั้งนี้ จะไม่มีการบีบบังคับใครให้เข้ามาอยู่ สามารถรวมตัวกันใหม่ได้เลย แต่ต้องบังคับให้มีการรวมตัวและจริยธรรมกันเองก่อนที่จะเข้าไปสู่กระบวนการของศาล เราไม่เห็นด้วยที่จะทำให้เกิดองค์กรใหม่ในรัฐธรรมนูญ แล้วมาคุมสื่อทั้งหมด เพราะจะทำลายรากฐานเดิม และการพัฒนาที่สื่อได้ทำกันมา ซึ่งมาตรฐานการจัดการกันเองจะมีการพัฒนาไปเทียบเท่ากับมาตรฐานทางการปกครอง อีกทั้ง กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญเร่งเข้ามาทุกขณะ อยากให้มีการทำงานร่วมกันระหว่างคณะทำงานปฏิรูปสื่อ กับกมธ.ยกร่างฯ พร้อมทั้งอยากให้กมธ.ปฏิรูปสื่อฯรับฟังมุมมองจากสื่อที่ไม่ได้เป็นสมาชิกด้วย

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมกมธ.เปิดให้สมาชิกได้ซักถามกันอย่างกว้าขวาง โดยนางสุกัญญา สุบรรทัด รองประธานกมธ.ปฏิรูปสื่อฯ กล่าวยอมรับว่า การปฏิรูปเรื่องนี้มีความยากมาก และไม่รู้จะปฏิรูปอย่างไร เพราะปัญหาที่ผ่านมาส่วนหนึ่งเกิดจากระบบไม่ดี แต่จะแก้อย่างไรนั้น กมธ.จะพยายามรับฟังจากหลายฝ่าย เพื่อให้สื่อมวลชนได้ทำงานอย่างเสรีภาพ แต่ประชาชนส่วนใหญ่มีจดหมายเข้ามา ต้องการให้รัฐเข้าควบคุมการทำงานของสื่อ ซึ่งกมธ.ไม่เห็นด้วย แต่ทำอย่างไรให้สื่อทำงานได้อย่างเสรีภาพแต่ต้องมีความรับผิดชอบกับประชาชนด้วย ซึ่งเป็นเรื่องยาก และหาจุดลงตัวเพื่อได้เดินไปด้วยกันได้

คณะทำงานสื่อเสนอแนวทางปฏิรูปต่อสปช.