posttoday

พุทธะอิสระร้องผู้ตรวจฯสอบอัยการถอนฟ้อง"ธัมมชโย"

26 กุมภาพันธ์ 2558

พระพุทธะอิสระ ยื่นผู้ตรวจการฯ สอบอัยการ ถอนฟ้องพระธัมมชโยเมื่อปี 49ก่อนไปกองปราบปราม แจ้งความดำเนินคดีพระพรหมโมลี

พระพุทธะอิสระ ยื่นผู้ตรวจการฯ สอบอัยการ ถอนฟ้องพระธัมมชโยเมื่อปี 49 ก่อนไปกองปราบปราม แจ้งความดำเนินคดีพระพรหมโมลี

วันที่ 26 กพ.พระพุทธะอิสระยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ช่วยตรวจสอบพนักงานอัยการทั้งที่เคยมีคำสั่งฟ้องคดีพระธัมมชโยในศาลอาญา และพนักงานอัยการที่มีคำสั่งถอนฟ้องคดีดังกล่าว ในปี 2549 โดยมีนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นตัวแทนรับเรื่อง โดยมีเนื้อหาว่า สืบเนื่องจากคดีพระธัมมชโย เมื่อปี พ.ศ. 2549 ที่ท้ายสุดอัยการมีคำสั่งถอนฟ้อง ยังเป็นข้อกังขาในสังคมไทยว่าทำไมอัยการถึงสั่งไม่ฟ้อง ทั้งที่คดีนี้มีพระลิขิตของพระสังฆราชชัดเจนว่า พระธัมมชโย ต้องอาบัติปาราชิก ต้องพ้นจากความเป็นสมณะโดยอัตโนมัติ ต้องถูกจัดการอย่างเด็ดขาด อีกทั้งในด้านคดีอาญาว่าด้วยเรื่องการลักขโมย เมื่อจำเลยที่ได้ขโมยของไปแล้ว เมื่อถูกจับได้จึง ได้นำของมาคืน และกลับได้รับคำตัดสินว่าไม่ผิด เพราะไม่มีเจตนา

ในช่วงพิจารณาคดีนั้น พนักงานอัยการชุดแรกได้มีคำสั่งฟ้องคดีพระธัมมชโยในศาลอาญาข้อหาเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังเอาทรัพย์สินไปเป็นของตนโดยทุจริต เมื่อคดีดำเนินไปจนใกล้ศาลจะมีคำพิพากษา พระธัมมชโยจึงได้โอนทรัพย์สินทั้งหมดคืนให้แก่วัดพระธรรมกาย และนายพชร ยุติธรรมดำรง อัยการสูงสุดในขณะนั้นจึงมีคำสั่งให้พนักงานอัยการเจ้าของสำนวนถอนฟ้องคดีดังกล่าว แต่พนักงานอัยการไม่ยอมมีคำสั่งถอนฟ้อง นายพชร ยุติธรรมดำรง จึงมีคำสั่งให้เปลี่ยนตัวพนักงานอัยการ และให้พนักงานอัยการชุดใหม่ดำเนินการถอนฟ้องคดีดังกล่าวออกจากสารบบความ โดยอ้างว่า พระธัมมชโย ได้ปฏิบัติตามพระลิขิตของพระสังฆราชแล้ว โจทก์จึงไม่ติดใจดำเนินคดีต่อไป โดยพนักงานอัยการชุดใหม่ได้ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อถอนฟ้องคดีดังกล่าวโดยเฉพาะ การถอนฟ้องดังกล่าว พระธัมมชโยจำเลย ไม่ได้คัดค้านการถอนฟ้องแต่อย่างใด ทำให้มีประเด็นที่น่าสงสัยถึงความไม่สุจริตในการดำเนินคดีอาญาดังกล่าว คือ

1. พนักงานอัยการมีเหตุผลใดตามกฎหมายจึงถอนฟ้องคดีอาญาความผิดต่อแผ่นดินออกไปจากศาล โดยที่ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ให้ชัดเจนว่าจำเลยผิดหรือบริสุทธิ์ และมีเหตุผลอันสมควรอย่างใดที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งให้เปลี่ยนตัวพนักงานอัยการ

2. หากพระธัมมชโย มั่นใจในความบริสุทธิ์ของตน พระธัมมชโย ควรจะคัดค้านการถอนฟ้อง โดยอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 35 ที่ให้สิทธิจำเลยคัดค้านคำร้องขอถอนฟ้อง เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาว่าจำเลยบริสุทธิ์ การที่พระธัมมชโยไม่ดำเนินการดังกล่าว เป็นเพราะพระธัมมชโย ทราบดีว่าตนเสียเปรียบในทางคดี จึงรีบคืนทรัพย์สินที่ยักยอกมาเพื่อให้พนักงานอัยการมีเหตุผลในการถอนฟ้อง

3. การถอนฟ้องดังกล่าว เป็นผลให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตามมาตรา 39 (2) ไม่สามารถที่จะฟ้องคดีอาญาใหม่ อีกทั้งไม่สามารถที่จะรื้อคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ได้ เพราะการรื้อคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ ศาลจะต้องมีคำพิพากษาในคดีนั้นแล้ว เมื่อพนักงานอัยการถอนฟ้องไปก่อน จึงไม่มีใครสามารถนำคดีมาฟ้องใหม่ได้ หรือไม่มีใครสามารถรื้อคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ได้

"จากข้อกังขาในสังคมไทยข้างต้น ฉันจึงขอให้ท่านผู้ตรวจการแผ่นดินช่วยทำการตรวจสอบพนักงานอัยการทั้งสองชุด พร้อมทั้งตรวจสอบ นายพชร ยุติธรรมดำรง อัยการสูงสุดในขณะนั้น ในกรณีดังกล่าว เพื่อความโปร่งใสของระบบความยุติธรรม และเพื่อรักษาศรัทธาในพุทธศาสนาให้ดำรงคงอยู่ในประเทศไทย อย่างบริสุทธิ์บริบูรณ์ สะอาดอย่างยั่งยืน เป็นที่พึ่งพาของประชาชนในชาติสืบไป"

ต่อมา พระพุทธอิสระ เข้าพบพนักงานสอบสวน กองปราบปราม เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับ พระพรหมโมลี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ / พระพรหมเมธี กรรมการและโฆษกมหาเถรสมาคม และ นายสมชาย สุรชาตรี โฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ข้อหาละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ มาตรา 44

พระพุทธอิสระ ระบุว่า จากกรณีที่มหาเถรสมาคมมีมติ เมื่อวันที่ 20 กพ. ที่ผ่านมา พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวะดพระธรรมกาย ไม่ต้องอาบัติปาราชิก ซึ่งพระพุทธอิสระ ได้สอบถามไปยังพระพรหมโมลี ที่ยืนยันว่ามีมติดังกล่าว

แต่จากนั้นสำนักงานพระพุทธศาสนา ได้ออกมาปฎิเสธว่ามหาเถรสมาคม ไม่เคยมีมติว่าพระธัมมชโย ไม่ต้องปาราชิก จึงเห็นว่าเป็นการใส่ความคณะสงฆ์ ส่วนจะมีการแจ่งความดำเนินคดีกับสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ผู้ปฎิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช หรือไม่ จะรอฟังผลมติของมหาเถรสมาคมในวันพรุ่งนี้(27กพ.)