posttoday

กก.ปฏิรูปพุทธศาสนาชงปปง.อายัดทรัพย์ธัมมชโย

23 กุมภาพันธ์ 2558

คณะกรรมการปฏิรูปพุทธศาสนา สปช. เสนอ ปปง.อายัดทรัพย์สิน ธัมมชโย-มูลนิธิเกี่ยวข้องที่โยงเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน

คณะกรรมการปฏิรูปพุทธศาสนา สปช. เสนอ ปปง.อายัดทรัพย์สิน ธัมมชโย-มูลนิธิเกี่ยวข้องที่โยงเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน

เมื่อวันที่ 23 ก.พ. นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สปช. เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เกี่ยวกับกรณีการตรวจสอบทรัพย์สินของ พระเทพญาณมหามุนี หรือ พระธัมมชโย และวัดพระธรรมกายว่า ข้อมูลจาก ปปง. พบว่ามีการกระทำผิดคดีฉ้อโกงประชาชนของ นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตผู้จัดการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ผู้ต้องหาคดีฉ้อโกงเงินประชาชน บริจาคเงินให้กับพระธัมมชโยและวัดพระธรรมกาย กว่า 829 ล้านบาท

ทั้งนี้ได้จำแนกเป็น 3 กรณี คือ 1. มอบเช็คให้กับพระธัมมชโย จำนวน 8 ฉบับ มูลค่า 348,780,000 บาท โดยพระธัมมชโยสั่งจ่ายเงินเข้าบัญชีมูลนิธิมหาอุบาสิกา เพียงบัญชีเดียว 2. มอบเช็คให้กับวัดพระธรรมกาย จำนวน 6 ฉบับ 436 ล้านบาท โดยวัดพระธรรมกายสั่งจ่ายเงินผ่านบัญชีดังกล่าวไปในการก่อสร้างศาสนสถาน และ 3. มอบเงินให้กับพระลูกวัดที่รู้จักในนาม "ปลัดวิจารณ์" จำนวน 119,020,000 บาท โดย "ปลัดวิจารณ์" ถอนเงินจากบัญชีเงินสด ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ อย่างไรก็ตามจำนวนเงินทั้ง 3 ส่วน ยังไม่ได้รับกับการสั่งจ่ายผ่านบัญชีบุคคลหรือกรณีที่นายศุภชัยเป็นผู้เบิกเงินด้วนตัวเองแล้วซื้อที่ดินในเขตวัดธรรมกาย เพื่อสร้างศาสนสถาน

จากกรณีดังกล่าว คณะกรรมการฯ ได้มีข้อเสนอแนะต่อ ปปง. ดังนี้ 1.ควรอายัดบัญชีทั้งหมดของพระธัมมชโย ซึ่งมีทรัพย์สินในบัญชีกว่า 300 ล้านบาท เพื่อคืนให้กับประชาชนที่ฝากเงินไว้กับ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน 2.กรณีที่วัดธรรมกายอ้างว่านำเงินที่ได้รับบริจาคจากนายศุภชัยไปก่อสร้างศาสนสถาน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ธรณีสงฆ์ ปปง. ทราบหรือไม่ว่าวัดพระธรรมกายมีพื้นที่เพียง 196 ไร่ ส่วนพื้นที่ที่เหลือเป็นที่ดิน ซึ่งถือในนามของมูลนิธิต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกาย จึงไม่ถือเป็นเขตธรณีสงฆ์ ฉะนั้นควรดำเนินการอายัดทรัพย์สินที่ถือครองในนามมูลนิธิอื่น เพื่อนำทรัพย์สินคืนให้กับวัดพระธรรมกายหรือไม่ 3. กรณี "ปลัดวิจารณ์" ควรมีการตรวจสอบต่อไป รวมถึงควรมีการส่งเรื่องไปยังดีเอสไอ เพราะมีคดีบางส่วนที่เป็นความผิดทางอาญา ฉะนั้นในการประชุมของคณะกรรมการฯ ครั้งหน้าจะมีการเชิญดีเอสไอร่วมประชุมด้วย 

"กรณีพระธัมมชโยและผู้ที่เกี่ยวข้อง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คณะกรรมการฯจะต้องศึกษา เพราะพระถือทรัพย์สินไม่ได้ แต่กลับรับเงินมหาศาล เท่าที่ฟัง ปปง. มีเงินผ่านบัญชีมหาศาล พระธัมมชโยและวัดธรรมกายน่าจะเป็นปัญหาอย่างยิ่ง"นายไพบูลย์กล่าว

นายไพบูลย์กล่าวอีกว่า คณะกรรมการฯ ยังได้มีการหารือเกี่ยวกับมติของมหาเถรสมาคมที่ชี้ว่ากรณีของพระธัมมชโยไม่ปาราชิก โดยอ้างมติ ปี 2549 ว่า พระธัมมชโยได้คืนทรัพย์สินให้กับวัดพระธรรมกายแล้ว ไม่จำเป็นต้องปาราชิก ที่ประชุมคณะกรรมการฯเห็นว่ามติของมหาเถรสมาคมดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและพระธรรมวินัย เนื่องจากก่อนมีมติของมหาเถรสมาคม ปี 2549 ได้มีพระลิขิตของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกจำนวน 3 ฉบับ ที่ชี้ว่าพระธัมมชโยพ้นจากการเป็นสงฆ์ไปแล้ว แต่มหาเถรสมาคมชุดปัจจุบันกลับระบุว่า  พระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชฯไม่ใช่คำบัญชา แต่เป็นพระดำริ ซึ่งเป็นการตีความของมหาเถรสมาคมเท่านั้น ขณะที่คณะกรรมการฯ เห็นว่าพระลิขิตดังกล่าวเป็นคำบัญชาของสมเด็จพระสังฆราชฯตาม มาตรา 8 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ที่สมเด็จพระสังฆราชฯสามารถบัญชาการคณะสงฆ์ โดยไม่ขัดกับกฎหมาย ธรรมวินัย และกฎหมายของมหาเถรสมาคม

อย่างไรก็ตามคณะกรรมการฯ จะเร่งรวบรวมข้อมูลเพื่อส่งเรื่องไปยัง รมว. กระทรวงยุติธรรม ต่อไป เพื่อให้ทราบถึงวิกฤตปัญหาดังกล่าว รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างในพระพุทธศาสนาที่จะต้องปฏิรูป ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในเดือนมี.ค. นี้