posttoday

คนไทยใช้ถุงยางมีเซ็กส์แค่56% พบมักเลือกใหญ่เกินตัว

12 กุมภาพันธ์ 2558

สธ.เผยสำรวจพบคนไทยยังใช้ถุงยางน้อย เหตุอายไม่กล้าซื้อ พร้อมพบปัญหามักซื้อ "ขนาดใหญ่" เกินตัว

สธ.เผยสำรวจพบคนไทยยังใช้ถุงยางน้อย เหตุอายไม่กล้าซื้อ พร้อมพบปัญหามักซื้อ "ขนาดใหญ่" เกินตัว

เมื่อวันที่ 12 ก.พ. นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ผลสำรวจ ดีดีซีโพล ของกรมควบคุมโรค พบว่า ประชาชนมีความรู้ในการใช้ถุงยางอนามัยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 76.8% ลดลงจากปี 2557 กว่า 10% และพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ 56.9% และใช้บางครั้ง 35.7% ไม่ใช้เลย 7.3% ส่วนด้านการป้องกันพบว่า 60% เห็นด้วยกับการตั้งตู้ถุงยางอนามัยฟรีในห้องน้ำนักเรียนม.ต้นขึ้นไป นอกจากนี้ ยังะบว่า กลุ่มตัวอย่างเลือกซื้อถุงยางอนามัยจากร้านสะดวกซื้อมากเป็นอันดับ 1 66.5%  แต่มากกว่า 43.6% ยังรู้สึกเขินอายต่อการเลือกซื้อถุงยางอนามัยในร้านสะดวกซื้อและร้านขายยา

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2558 กรมควบคุมโรคได้จัดงบประมาณ 47 ล้านบาท ซื้อถุงยางอนามัยขนาดที่เหมาะสมกับคนไทยจำนวน 43 ล้านชิ้น โดยครึ่งหนึ่งเป็นขนาด 52 มิลลิเมตร ซึ่งใช้มากที่สุด แจกฟรีแก่ประชาชนทั่วประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนที่ต้องการสูงถึงเกือบ 270 ล้านชิ้นต่อปี โดยยืนยันว่า ถุงยางที่แจกนั้นมีคุณภาพ ผ่านมาตรฐาน เช่นเดียวกับถุงยางที่วางขายในท้องตลาด อย่างไรก็ตาม ยังต้องเพิ่มการกระจายถุงยางอนามัยผ่านเครือข่ายประชาสังคม รวมถึงแจกตามสถานที่สาธารณะ มากกว่าจะแจกในสถานพยาบาลอย่างเดียว ซึ่งหลังจากนี้ จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนกระจายให้ได้มากที่สุด

ขณะที่ นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา โฆษกสธ. กล่าวว่า ปัญหาที่พบบ่อยครั้งคือ การเลือกถุงยางอนามัยขนาดที่ไม่เหมาะสม มักจะเลือกขนาดใหญ่กว่าตนเอง เพราะมีทัศนคติกลัวถูกเหยียดหยามจากเพื่อนว่าขนาดอวัยวะเพศเล็ก ไม่สมศักดิ์ศรีความเป็นชาย เกิดปัญหาถุงยางอนามัยหลุด หลวมมีความเสี่ยงติดโรคทางเพศสัมพันธ์หรือตั้งครรภ์ได้ง่ายขึ้น

“เพื่อเป็นการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สามารถเลือกปฏิบัติได้ 4 แนวทาง คือ 1.การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย เช่น การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง ไม่มีคู่นอนหลายคน มีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ไม่มีภาวะติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 2.การดูแลคือ ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งกับทุกคนและทุกช่องทางที่มีเพศสัมพันธ์ ควรพกถุงยางอนามัยไว้เสมอ เพราะอาจเกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว รักษาความสะอาดของร่างกายและอวัยวะเพศอย่างสม่ำเสมอ 3.การหลีกเลี่ยงคือ เลี่ยงสถานการณ์หรือโอกาสเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยเช่นไม่อยู่สองต่อสอง ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เสพยาเสพติด ไม่ดูสื่อลามก และ4.ไปพบแพทย์ เมื่อผู้ชายมีอาการปัสสาวะแสบขัดหรือมีหนองไหลออกมา เจ็บปวดอวัยวะเพศ มีตุ่ม ผื่น แผล ฝี บริเวณอวัยวะเพศ ขาหนีบบวมหรือเป็นฝี ส่วนผู้หญิงมีอาการตกขาวผิดปกติหรือมีสีเหลือง กลิ่นเหม็น เจ็บ เสียวท้องน้อย มีผื่น ตุ่ม แผล ฝี ที่อวัยวะเพศ ขาหนีบบวมหรือเป็นฝี เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง

ข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ปี 2557 พบว่า อัตราการป่วยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่ โรคหนองใน ซิฟิลิส หนองในเทียม แผลริมอ่อน และกามโรคของต่อมและท่อน้ำเหลืองทั่วประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 35.89 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2552 เพิ่มเป็น 52.69 ต่อแสนประชากร ในปี 2557 และที่น่าตกใจพบว่าในรอบ 10 ปีตั้งแต่ปี 2548-2557 วัยรุ่นอายุ 10-19 ปี ติดกามโรคเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เกือบ 5 เท่าตัว จาก 7.53 เป็น 34.50 ต่อประชากรแสน ในกลุ่มอายุ 20-29 ปี เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัวเช่นกัน จาก 26.66 เป็น 42.73 ต่อประชากรแสน คาดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้าจะมีผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ใน 2 กลุ่มอายุนี้ รวม 21,137 คน เหตุเนื่องจากใช้ถุงยางอนามัยน้อยลง ผลสำรวจในปี 2556 วัยรุ่นชายใช้เพียง 36.2% วัยรุ่นหญิงใช้ 27.9% ขณะที่ในปี 2553 ผู้ชายใช้ 43.3% ผู้หญิงใช้ 30.7%