posttoday

รัชตะยันยังไม่เคาะข้อสรุปบัตรทอง

02 กุมภาพันธ์ 2558

ศึกสธ.-สปสช.ยังไม่จบ เตรียมเสนอบอร์ดเคลียร์อีกทีจันทร์หน้า

ศึกสธ.-สปสช.ยังไม่จบ เตรียมเสนอบอร์ดเคลียร์อีกทีจันทร์หน้า

เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ที่โรงแรมเซนทรา ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข (สธ.) และประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ดสปสช.) เปิดเผยว่า การประชุมร่วมระหว่างสปสช.และสธ. เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ในส่วนของการจัดสรรเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2558 นั้น ยังเป็นไปตามประกาศของ บอร์ด สปสช. โดยส่วนที่จะนำเสนอในขั้นตอนต่อไป เพื่อการปรับปรุง มีดังนี้

1.การใช้ตัวเลขเงินเดือนมาหักรายได้ของ รพ.ในสังกัด สป.สธ. ใช้ตัวเลข GFMIS เป็นตัวเลขอ้างอิง และขอปรับเกลี่ยสำหรับบริหารระดับประเทศไม่เกินร้อยละ 1 และระดับเขตไม่เกินร้อยละ 5 โดยมีเกณฑ์การบริหารที่ชัดเจน

2.เพื่อให้ได้ตัวเลขประมาณการรายรับขั้นต่ำของหน่วยบริการ จะมีการจัดการเพื่อไม่ให้มีการตั้งหนี้และหักจากเงินที่จะโอนให้ใหม่ อันเกิดจากผลงานต่ำกว่าประมาณการ โดยจะดำเนินการดังนี้ ประมาณการอัตราจ่ายให้เหมาะสมเพื่อให้มีเงินสำรองไว้เพิ่มเติมให้เป็นไปตามผลงาน และนำเงินที่สำรองไว้ตามจ่ายตามผลงานของ รพ.สังกัด สป.สธ.โดยใช้ผลงานภาพรวมผลงาน รพ.สังกัด สป.สธ.ของแต่ละเขตมาสนับสนุน รพ.สังกัด สป.สธ. ที่ผลงานต่ำกว่าประมาณการขั้นต่ำ ซึ่งทั้ง 2 วิธีนี้จะทำให้ รพ.สังกัด สป.สธ. ได้รับงบไม่ต่ำกว่าการประมาณการรายรับขั้นต่ำ โดยจะมีเงินที่สำรองตามจำเป็นไว้ สำหรับจัดสรรเพิ่มเติมตามผลงานที่แตกต่างจากประมาณการรายรับขั้นต่ำดังกล่าว และสนับสนุน รพ.สต. และศูนย์สาธารณสุขชุมชนในพื้นที่ประชากรเบาบาง

3.ปรับปรุงการทำงานระดับเขต ให้มีคณะกรรมการร่วม (co-committee) ทำงานร่วมกันแล้วเสนอเพื่อขออนุมัติต่อคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขต (อปสข.) และในส่วน อปสข. อาจจะปรับปรุงองค์ประกอบ โดยจะเสนอเพิ่มผู้แทนหน่วยบริการทุกสังกัด (ไม่ใช่เฉพาะ สป.) จากเดิมที่มี นพ.สสจ.เป็นตัวแทน รพ.สังกัด สป.สธ. ทั้งจังหวัดเท่านั้น

4.รายการบริการกรณีเฉพาะ ให้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายได้ในระดับเขต โดยเริ่มรายการผ่าตัดตาต้อกระจก และโรคหอบหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรัง

5.เพื่อให้สามารถบริหารจัดการและพัฒนาการจัดบริการภายในเขตได้อย่างต่อเนื่อง สปสช. จะเสนอข้อมูลบริการให้ระดับเขตอย่างสม่ำเสมอ ตามที่จะตกลงกันต่อไป สำหรับในระยะยาว การมีหน่วยงานกลางเพื่อทำหน้าที่ธุรกรรมเบิกจ่ายระดับชาติ (national data clearing house) จะเป็นผู้สนับสนุนข้อมูลต่อไป

ทั้งนี้ จะยังต้องนำข้อเสนอทั้งหมด เพื่อให้คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังพิจารณาอีกครั้ง และยังต้องเข้าสู่วาระพิจารณาของการประชุมบอร์ดสปสช.ในวันที่ 9 ก.พ.นี้ ต่อไป อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าความเห็นต่างทั้งหมด น่าจะจบลงภายในการประชุมบอร์ดสัปดาห์หน้า

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. กล่าวว่า จะเจรจากับสธ.ต่อไป เพื่อให้ยังคงเป็นหน่วยขึ้นทะเบียนบัตรหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต่อไป เนื่องจากสะดวกกับผู้ที่เข้ารับบริการมากที่สุด โดยเฉพาะเด็กเกิดใหม่ที่ลงทะเบียนเพิ่มมากกว่าปีละ 8 แสนคน นอกจากนี้ยังมีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ์ใหม่ปีละกว่า 1 หมื่นคน อย่างไรก็ตาม ได้มีทางเลือกว่าหากไม่สามารถจัดการได้ อาจใช้กลไกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นที่ขึ้นทะเบียนแทน

ขณะที่ น.ส.บุญยืน ศิริธรรม อดีตสว.สมุทรสงคราม ได้นำภาคประชาชน กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เครือข่ายประชาชน 4 ด้านในระบบหลักประกันสุขภาพ และเครือข่ายพลเมืองขับเคลื่อนด้านสิทธิสุขภาพ  เข้ายื่นหนังสือต่อรมว.สธ. เรียกร้อง 5 ข้อ ได้แก่

1.เครือข่ายไม่เห็นด้วยในข้อสรุปที่มีการตกลงระหว่างรมว.สธ. เลขาธิการสปสช. และ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสธ. เนื่องจากเป็นการตกลงกันโดยไม่ผ่านกลไกบอร์ดสปสช.

2.สธ.ได้ใช้อำนาจสั่งการหลายอย่างให้ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ข้าราชการที่ดี เช่น ยกเลิกไม่ให้โรงพยาบาลขึ้นทะเบียนบัตรทองและประกาศไม่ให้เจ้าหน้าที่ร่วมมือกับสปสช. ซึ่งกระทบประชาชนชัดเจน 3.เครือข่ายไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอร่วมจ่าย และการปฏิรูปที่ไม่สนใจประชาชน

4.เครือข่นไม่่เห็นด้วยกับการบริหารงบประมาณในระบบเขตสุภาพของสธ.เนื่องจากไม่มีความชัดเจน

5.ไม่เห็นด้วยกับการปรับกองทุนส่งเสริมป้องกันโรคโดยยกเลิกการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและท้องถิ่นให้เหลือเพียงบุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาลเท่านั้น