posttoday

ถึงเวลาสร้างสังคมไทยให้คิดแบบ 'วิทยาศาสตร์'

07 ตุลาคม 2557

ตำแหน่งของ เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ถูกเปลี่ยนไป ทันที จากอาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลายเป็นนัก "ค้นหาความจริง" เพื่อตอบคำถามความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ อย่างการตามหา "พญานาค" ไปจนถึงเรื่องใหญ่อย่างการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด GT200 ที่เจษฎาเป็นคนเริ่ม ตั้งข้อสังเกต และพิสูจน์จนได้ข้อสรุปว่าไม่สามารถใช้งานได้จริงอย่างที่โฆษณา

ตำแหน่งของ เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ถูกเปลี่ยนไป ทันที จากอาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลายเป็นนัก "ค้นหาความจริง" เพื่อตอบคำถามความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ อย่างการตามหา "พญานาค" ไปจนถึงเรื่องใหญ่อย่างการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด GT200 ที่เจษฎาเป็นคนเริ่ม ตั้งข้อสังเกต และพิสูจน์จนได้ข้อสรุปว่าไม่สามารถใช้งานได้จริงอย่างที่โฆษณา

โพสต์ทูเดย์นัดคุยกับ เจษฎา ในฐานะนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ผู้ทำหน้าที่ "สื่อสารวิทยาศาสตร์" ให้คนไทยได้ใช้กระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ เพื่ออธิบายปรากฏการณ์มากขึ้น รวมถึงจุดประกายให้เลิกใช้มุมมอง "ไสยศาสตร์" หา คำตอบ เพื่อขยายแนวความคิดของนักวิชาการรุ่นใหม่ผู้นี้ รวมถึง อาจจุดประกายการใช้ความคิดมากกว่าจะหลงอยู่ภายใต้อิทธิพลของกรอบความเชื่อเดิมๆ อย่างที่คนไทยจำนวนมาก เป็นอยู่ขณะนี้

ชื่อของ เจษฎา เริ่มดังขึ้นมาตั้งแต่เขาใช้ล็อกอิน JD300 ในห้องหว้ากอ ของพันทิปดอทคอม เพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับเครื่องมือรีโมทเซนซิ่ง เพื่อตรวจจับวัตถุระเบิด ที่เรียกสั้นๆ ว่า GT200 ซึ่งในเวลา นั้นเขาต้องเผชิญหน้ากับทหารระดับนายพล รวมถึงบิ๊กข้าราชการจำนวนมาก ซึ่งยืนยันว่าเครื่องมือนี้ใช้ได้จริง จนการเปิดโปงของเจษฎา นำมาสู่การทดสอบอย่างเป็นทางการโดยรัฐบาล จนพบว่าเครื่องมือที่หน่วยงานราชการจัดซื้อจำนวนมาก เป็นเครื่องมือ "ลวงโลก"

"เรื่อง GT200 เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผมได้ออกมาพูดในสังคม เมื่อก่อน เราจะสนใจเรื่องพวกนี้ แต่เราไม่เคยได้พูด พอเราได้พูดขึ้นมา มันก็เชื่อมโยง ไปเรื่องอื่น เชื่อมไปถึงการขายของหลอกลวงตามทีวี เชื่อมไปถึงเรื่องไสยศาสตร์ ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ผมพบว่า ในบ้านเรามีเรื่องหลอกลวงเต็มไปหมด พอผมมีโอกาสได้พูด มันก็เริ่มจุดติดแล้ว จนตอนนี้ กลายเป็นคนแรกๆ ที่สื่อ นึกถึงเวลาเกิดเรื่องอะไรที่หาคำตอบ ไม่ได้ และทำให้ผมได้มีรายการ 'วิทยาตา สว่าง' ออกอากาศในยูทูบเป็นของตัวเอง ทั้งที่การหาคำตอบด้วยวิธีนี้ เป็นงานอดิเรกของเราเท่านั้น" เจษฎา เล่าให้ฟัง

จนถึงวันนี้ งานอดิเรกอย่างการหาคำตอบในเชิงวิทยาศาสตร์ กลายเป็นแบรนด์ติดตัวเขาไปโดยปริยาย ทุกๆ วันจะมีข้อความส่วนตัว ส่งผ่านหน้าเฟซบุ๊ก ขอให้ช่วยหา คำตอบในประเด็นต่างๆ ตามหน้าหนังสือพิมพ์ หรือในโซเชียล เน็ตเวิร์ก ซึ่งเจษฎาก็ยินดีหาคำตอบให้ทุกเรื่องด้วยความเต็มใจ

"คนที่รู้จักผมเขาจะรู้ว่าผมมีงานเยอะ มีงานสารพัด ทั้งงานสอน งานวิชาการ ซ้อนๆ กัน แต่ว่าผมก็เอาตรงส่วนนี้ เป็นพื้นที่คลายเครียดของผม สำหรับวันที่ผมต้องทำงานมาหนักๆ ผมว่าคนทุกคนค้นหาความชอบของตัวเอง อาจารย์ที่เป็นสายวิทยาศาสตร์เพียวๆ เขามีงานทำที่ดีอยู่แล้ว 99% ก็ทำงานอยู่ในห้องแล็บ วิจัย ทำผลงาน ได้ตีพิมพ์ ก็ดีใจ ผมอาจจะเป็นหนึ่งในร้อยคนที่ได้ทำอะไรแปลกๆ ออกมา ซึ่งก็มีคนเช่นนี้เหมือนกันที่ชอบเรื่องการสื่อสารทางด้านวิทยาศาสตร์"

"ณ วันนี้ผมมองตัวเองว่าเป็นทั้งอาจารย์และนักศึกษา วิทยาศาสตร์ พยายามทำเรื่องหลายๆ เรื่องที่ยากๆ ให้มันง่าย และเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น และผมว่าเรื่องหลายๆ เรื่องนี้ พอมองระยะยาวมันก็จะเป็นอานิสงส์ของวงการวิทยาศาสตร์ไทย ไม่แพ้กับที่เขาทำวิจัยกันอยู่ คือมันทำให้คนในสังคมไทยหันมาศรัทธาในด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น ไม่ใช่ศรัทธาที่แปลว่างมงาย แต่วิทยาศาสตร์มันมีทางออกให้เรา" เจษฎา ระบุ

รูปแบบการทดลองและการค้นหาคำตอบที่เจษฎา สร้างขึ้น ทำให้เกิดเครือข่ายเพื่อนในโลกออนไลน์จำนวนมาก ที่พร้อมจะหาคำตอบไปกับเขา ที่พร้อมจะตรวจสอบเรื่องไสยศาสตร์ ด้วยวิธีคิดนอกกรอบเดิม ฝืนคำว่า "ไม่เชื่ออย่า ลบหลู่" อันเป็นคติเดิมของสังคมไทยไปโดยสิ้นเชิง

"ยกตัวอย่างเช่นมีข่าวรอยพญานาคที่จุฬาฯ ผมก็ตอบไป ทันทีว่า เกิดจากเครื่องเจียหิน แต่ก็มีเครือข่ายที่ชอบเหมือนๆ กันแย้งมาว่า ถ้าเป็นเครื่องเจียหินจะต้องมีร่อง แต่รอยนี้ไม่มีร่อง น่าจะเป็นเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงมากกว่า แล้วก็มี อีกคนลองทำดู ผมก็ไปลองทำเหมือนกัน ปรากฏว่าจริงอย่าง ที่เขาว่า ซึ่งผมดีใจมากที่มีคนแย้ง และรู้ว่ามีคนสนใจแบบเดียวกันกับเรา" เจษฎาบอกกับเรา

ถามเจษฎาว่ารู้สึกอย่างไรบ้าง หากพยายามหาคำตอบแล้ว และยังพบว่ามีบางคนเลือกจะเชื่อต่อไป ทั้งที่การพิสูจน์แสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่อง "ลวงโลก"

"ผมไม่อยากอ้างถึงศาสนา แต่ถ้าจะให้เห็นภาพ ศาสนาพุทธ จะพูดถึงบัว 4 เหล่า พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้บอกหรือเทศน์ทุกอย่างให้ได้รู้ทั้งหมด จะมีกลุ่มบางกลุ่มที่เขาพร้อมเรียนบรรลุ เปรียบเทียบกับยุคนี้ก็จะเป็นผู้ที่ค้นหาข้อมูลเอง เป็นผู้ ที่เก่งมาก บางคนอยู่ปริ่มแล้วก็สบายๆ คือถ้ามีความสงสัยอยู่ อยากรู้อยู่ ได้กระตุ้นนิดเดียวก็บรรลุได้เลย ส่วนคนที่เป็น บัวจมน้ำ จมลึกๆ เลย หรืออยู่ใต้โคลนตม ที่แม้แต่ปลาหรือ เต่าก็ยังไม่ยอมกิน พวกนี้คือคนที่เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเขาได้ บางครั้งผมเข้าใจว่าความคิดเขาคือการหาที่พึ่งทางใจ หลายๆ เรื่องอย่าง "คอลลาเจน" ผมค้นพบว่าไม่ได้เกี่ยวอะไรกับความขาวของผิวเลย แต่เขาก็เชื่อ พอเราเถียงไปมาก เขาก็จะหาตรรกะอื่นๆ เข้ามาโต้แย้งกับเรา เช่น ด่าเราคืน หาว่าเราเป็นคนไม่น่าเชื่อถือไปเรื่อยๆ คนพวกนี้ผมว่าสุดท้ายยังไงก็ปล่อยเขาไปเถอะ"

อย่างไรก็ตาม เจษฎาบอกว่า เขาชื่นชมคนที่แย้งด้วยเหตุและผล เพื่อแสดงจุดยืนในความเชื่อของตัวเอง เช่น บอกว่าพญานาคมีจริง เพราะเคยเห็น บั้งไฟพญานาคมาแล้ว ซึ่ง ทำให้เขาต้องต่อยอด ค้นหาคำตอบไปเรื่อยๆ จนต้องไปค้นคว้าเรื่องบั้งไฟพญานาคจริงจัง ก่อนจะพบว่าในระยะหลังบั้งไฟพญานาคเกิดจากกระสุนส่องแสงสว่างที่ยิงขึ้นจากฝั่งลาว

"ผมคิดว่าโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว ตอนนี้ความรู้หรือว่าข่าวสารมันไปเร็วมาก คนต่างจังหวัดบางทีรับรู้ ข่าวสารเร็วกว่าคนกรุงเทพฯ อีก เขามีทีวีดาวเทียมที่ได้ข้อมูลพอๆ กับเรา มีอินเทอร์เน็ตเหมือนกัน แต่มันกลายเป็นว่าถ้าคุณอยู่ในสังคมที่บอกว่า "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่" เหมือนเดิม ทีนี้ถึงคุณ ได้ข้อมูลใหม่ๆ เข้ามา คุณเจอคำนี้ คุณก็ไม่กล้าจะแย้งแล้ว คุณจะเงียบ แต่ถ้าคุณมีสังคมที่ฟรีมากขึ้น ไม่ได้ถูกปิดกั้นขนาดนี้ คุณก็จะเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ นี่คือในสังคมวิทยาศาสตร์ มากๆ แล้วคุณตั้งคำถามมากๆ กับทุกอย่าง และจะพบว่า การลบหลู่ไม่มีจริงในที่สุด" เจษฎา ระบุ

เราชวนเจษฎาคุยต่อถึงเรื่องการ "ปฏิรูปการศึกษา" ให้เด็กไทยพัฒนาวิธีคิดให้เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น เจษฎาบอกว่า แนวทางการศึกษาของไทยนั้นหลงทางมานานแล้ว ตั้งแต่วันที่ให้เด็กมัธยมเลือกว่า พอขึ้น ม.ปลาย จะเรียน "สายวิทย์" หรือ "สายศิลป์ฯ"

"ไม่มีหรอกพอจบ ม.3 แล้วต้องแยกสาย จนกลายเป็นบรรทัดฐานว่าถ้าคุณเรียนเก่ง เข้าหมอ หรือเข้าวิศวะต้องเรียนสายวิทย์ แต่ถ้าหรือถ้าเรียนไม่เก่งคุณเข้าสายศิลป์ แล้วก็มาบ่นทีหลังว่าคนจบวิทย์น้อย จบสังคมฯ เยอะ หางาน ยาก มันผิดตั้งแต่แรก คือถ้าเป็นต่างประเทศทุกคนเรียนเหมือนกันหมด แต่ถ้าคุณไม่ชอบเรียนวิธีนี้ คุณก็เรียนสายอาชีวะเลย แต่บ้านเรามันหลงไปไกล กลายเป็นว่าเด็กมาอัดกันเรียนสายสามัญเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย ถ้าคุณเก่งเรื่องเทคนิคก็ไปสายอาชีวะเลย ไม่ต้องมาเรียนต่อมหาวิทยาลัยแล้ว" เจษฎา แสดงความคิดเห็น

"ถ้าวันนี้ไปดูเด็กมัธยม เขาเรียนกันน่าสงสารมาก เขาเรียนตั้งแต่ 7 โมงเช้า เพื่อเข้าเรียนชั่วโมงที่ 0 แล้วตอน 4-5 โมงเย็นต้องมาเรียนชั่วโมงที่ 10 เพิ่มเติม เพราะครูสอนไม่ทัน กลายเป็นว่าเราเรียนกันเยอะไปหมด แต่ผลสัมฤทธิ์การศึกษาเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านยังทำได้ไม่ดีเลย แสดงว่าชั่วโมงเรียนเราใช้เยอะเกินไป แล้วก็ไม่ได้มีผลสัมฤทธิ์อะไร ซึ่งก็ต้องถามว่าการปฏิรูปที่ผ่านมา ทำให้เนื้อหาในหนังสือมันเยอะเกินไปหรือเปล่า จริงอยู่ คำว่าปฏิรูปมันก็สวยดี แต่มันเป็นรูปธรรมหรือไม่ ยิ่งวันนี้ คำว่า "ปฏิรูป" กลับมาใหม่ เราก็ไปโมเดลอื่นอีก กลายเป็น ต้องปลุกใจ ต้องท่องค่านิยมรักชาติ ฯลฯ บอกตรงๆ ผมสงสารเด็กมาก" เจษฎา ระบุ

ถามเจษฎาต่อว่า คิดอย่างไรที่เวลาเกิดปัญหาอะไรขึ้น ในสังคม ก็มักจะโทษการศึกษา ว่าเป็นส่วนผิดเพียงเรื่องเดียว เจษฎาตอบทันทีว่า ถ้าสังคมภายนอก ทำตัวไม่เหมือนที่เรียน ในหนังสือ ก็โทษครูไม่ได้
"สมมติเราสอนลูกว่าการทุจริตเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ตั้งแต่แรก พ่อยัดเงินให้ลูกเข้าโรงเรียนดีๆ หรือกลับบ้านมา พ่อเอาแต่พูด ให้ลูกสร้างคอนเนกชั่นเยอะๆ ขณะเดียวกันพอจะเดิน เข้าแถว พ่อก็พาลัดคิว นี่ก็ไม่ใช่ความผิดของระบบการศึกษาแล้ว แต่เกิดจากสังคมรอบตัว หรือแม้แต่ครูเห็นว่า เด็กลอกการบ้าน แต่ไม่ห้ามปราม แต่ครูสอนว่าห้ามคอร์รัปชั่นนะ มันก็ย้อนแย้งในตัวเอง เพราะฉะนั้นทุกอย่างมันอยู่ที่สภาพสังคม ที่ไม่ได้สร้างค่านิยม และไม่ได้เป็นแบบอย่างให้เด็กเรียนรู้ ถ้าจะพูดว่าทำไมมันแย่ ก็ต้องโทษทั้งสังคม" เจษฎา ทิ้งท้าย