posttoday

เปิด"ศูนย์ข้อมูลน้ำฉุกเฉิน"รับอุทกภัยทั่วประเทศ

29 กันยายน 2557

กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯเปิดศูนย์บริการขข้อมูลน้ำเคลื่อนที่ในภาวะฉุกเฉิน เพื่อเข้าแก้ไขปัญหาฉุกเฉินได้ในทุกพื้นที่

กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯเปิดศูนย์บริการขข้อมูลน้ำเคลื่อนที่ในภาวะฉุกเฉิน เพื่อเข้าแก้ไขปัญหาฉุกเฉินได้ในทุกพื้นที่

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) เปิด เผยว่า สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(สสนก.)ได้เปิดศูนย์บริการข้อมูลน้ำเคลื่อนที่ในภาวะฉุกเฉิน  ให้บริการข้อมูลน้ำระดับชาติแบบเคลื่อนที่ ชี้แห่งแรกและแห่งเดียวในเอเชีย วิเคราะห์ข้อมูล เชิงลึกแก้ปัญหาน้ำท่วมแบบเคลื่อนที่ ของ โดยศูนย์บริการดังกล่าว ถือเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในภูมิภาคเอเชีย ที่พร้อมปฏิบัติการรับมืออุทกภัยตลอด 24 ชั่วโมง

นายพิเชฐ กล่าวว่า เมื่อเกิดเหตุฝนตกหนัก น้ำท่วม ที่ผ่านมาการประมวลสถานการณ์และให้บริการข้อมูลน้ำ อาศัยระบบสื่อสาร เช่น โทรศัพท์มือถือ เครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อรับ-ส่งข้อมูล แต่ทุกครั้งที่เกิดภาวะฉุกเฉิน การสื่อสารจะถูกตัดขาดจากส่วนกลาง ทำให้การแก้ไขปัญหาในภาวะฉุกเฉินดำเนินการไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เพื่อบริหารความเสี่ยงดังกล่าว สสนก. จึงได้พัฒนา ศูนย์บริการข้อมูลน้ำเคลื่อนที่ในภาวะฉุกเฉิน (Mobile Data Center) ซึ่ง เป็นส่วนหนึ่งของ คลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ ที่สามารถเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่บัญชาการ และประมวลผลได้ทุกสถานการณ์ สนับสนุนข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ให้บริการข้อมูลน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาวะฉุกเฉิน ในกรณีภาวะปกติ ใช้เป็นระบบสำเนาข้อมูล  สำหรับฐานข้อมูลน้ำระดับชาติสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ใช้วิเคราะห์ วางแผนพัฒนา และบริหารแผนงาน

ปัจจุบันศูนย์บริการข้อมูลน้ำฯ ประจำการอยู่บริเวณอาคารกลุ่มนวัตกรรม 2 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จ.ปทุมธานี

นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสสนก.กล่าวว่า ศูนย์บริการข้อมูลน้ำฯ นำระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถปฏิบัติการด้วยระบบสื่อสารข้อมูลผ่านดาวเทียม รองรับการปฏิบัติงานในทุกสถานการณ์ ประกอบด้วยรถพ่วง 4 ส่วน คือ  รถหัวลากขนาดใหญ่  ห้องปฏิบัติการระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงที่รองรับข้อมูลได้ มากกว่า 30 เทอราไบท์หรือเท่ากับดีวีดี  6,500 แผ่น ตู้ระบบหล่อเย็นของระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง และ  ตู้ระบบไฟสำรองที่ทันสมัย เทียบเท่าระบบของสนามบินสุวรรณภูมิ โดยใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้า   ควบคู่กับเทคโนโลยีไฟล์วีล  ที่มีน้ำหนักเบา ไม่ต้องใช้แบตเตอรี่ และประหยัดพลังงาน ในกรณีที่ไฟฟ้าดับสามารถทำงานได้ต่อเนื่องถึง 8 ชั่วโมง

นายรอยล กล่าวว่า เมื่อศูนย์บริการข้อมูลน้ำฯ ไปอยู่ในพื้นที่บัญชาการแล้ว ต้อง สำรวจข้อมูลภาคสนามเพิ่มเติมเพื่อให้การประมวลผลแม่นยำขึ้น โดยจัดชุดสำรวจเคลื่อนที่เร็วทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ประกอบด้วย  รถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ 6 คัน ลุยน้ำได้สูงถึง 80 เซนติเมตร และติดตั้งระบบ Mobile Mapping System (MMS) เพื่อวัดความสูงของระดับถนน คันกั้นน้ำ แบบอัตโนมัติขณะเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เรือตรวจการณ์ 1 ลำ ติดตั้งอุปกรณ์วัดความลึกท้องน้ำด้วยคลื่นเสียงพร้อมระบบ GPSประมวลผลอัตโนมัติ  เครื่องบินสำรวจอัตโนมัติขนาดเล็ก ติดตั้งกล้องถ่ายภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่ง เครื่องมือเหล่านี้จะทำให้คลี่คลาย และแก้ปัญหาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น