posttoday

เตรียมคลอดแผนจัดการน้ำฉบับสมบูรณ์ปลายต.ค.

16 กันยายน 2557

บอร์ดน้ำ แจง ครม. แผนบริหารจัดการน้ำฉบับสมบูรณ์ เสร็จ ปลาย ต.ค. ประยุทธ์สั่งเร่งเตรียมแผนรับมือภัยพิบัติ ระยะสั้น7 มาตรการ

บอร์ดน้ำ แจง ครม. แผนบริหารจัดการน้ำฉบับสมบูรณ์ เสร็จ ปลาย ต.ค. ประยุทธ์สั่งเร่งเตรียมแผนรับมือภัยพิบัติ ระยะสั้น7 มาตรการ

เมื่อวันที่ 17 ก.ย.นี้ ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดนโยบายและบริหารทรัพยากรน้ำ ได้รายงานต่อที่ประชุมครม. ถึงผลการทำงานของคสช. ในช่วงที่ผ่านมา และการทำงานของอนุกรรมการ 5 กลุ่ม รวมทั้งกลุ่มที่ดูแลบริหารจัดการน้ำ ภาคเหนือภาคกลาง ภาคตะวันออกและคณะอนุกรรมการจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำของภาคตะวันเฉียงเหนือ ภาคใต้ 

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการจัดเตรียมข้อมูล คณะอนุกรรมการจัดเตรียมข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ คณะอนุกรรมการจัดตั้งองค์กรข้อกำหนดและกฎหมายต่าง ๆ และคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ โดยทั้งหมดมี 3 ระยะในการทำงาน 1.ระยะร่างโครงการแผนงาน 2. รายละเอียดแผนงานโครงการ 3.แผนบริหารจัดการน้ำฉบับสมบูรณ์ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระยะที่ 2 และเสร็จสิ้นปลายเดือนก.ย.และจะเข้าสู่ระยะที่ 3 คือการมีแผนบริหารจัดการน้ำฉบับสมบูรณ์ ซึ่งจะแล้วเสร็จปลายเดือนต.ค.  

ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รายงานสถานการณ์น้ำ โดยเฉพาะพื้นทีที่คาดว่าจะเกิดภัยที่เกี่ยวกับน้ำในระยะสั้น ซึ่งจากนี้จะได้รับอิทธิพลพายุไต้ฝุ่น “คัลแมกี” ที่จะเข้า โดยจะเกิดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง น่าน แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เป็นต้นนอกจากนี้ยังมีปัญหาขาดแคลนน้ำ เนื่องจากการระเหยสะสมสูง จำนวนวันฝนตกมาก ปริมาณฝนสะสมต่ำ ซึ่งพื้นที่เฝ้าระวัง แพร่ พิจิตร นครสวรรค์ นครราชสีมา บุรีรัมย์  เป็นต้น 

"ส่วนปัญหาน้ำหลากอันเนื่องมาจากมรสุมตะวันตกเฉียงกำลังอ่อน ยังพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ทำให้เกิดปัญหาน้ำหลาก มีพื้นที่เฝ้าระวัง แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยาว์ แพร่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีปัญหาคลื่นซัดฝั่งเนื่องจากลมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามันประเทศไทย โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังคือ ระนอง พังงา ภูเก็ตกระบี่ สตูล" ร.อ.น.พ.ยงยุทธ กล่าว

ร.อ.นพ.ยงยุทธ  กล่าวว่า แนวทางที่จะพิจารณาการดำเนินการในระยะสั้น คือ 1.เร่งปรับปรุงระบบการระบายของสังคมเมืองที่สำคัญคือนครราชสีมา สุโขทัย พิจิตร นครสวรรค์ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ  2.การทำฝนหลวง  ในพื้นที่ที่มีศักยภาพให้มากที่สุด และสร้างแหล่งน้ำประจำตำบล ในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ 3. เจาะบ่อบาดาลในพื้นที่ที่มีศักยภาพ ช่วยภัยแล้งที่จะมาถึงโดยเตรียมจ่ายน้ำโดยวิธีต่าง ๆ 4.ป้องกันระบบประปา น้ำตื้น บ่อบาลดาลในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม และน้ำหลาก 5.มาตรการรงค์รณใช้น้ำอย่างประหยัดในภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และควรที่จะเร่งรัดให้มีแหล่งน้ำของตัวเองอย่างเพียงพอ 6. การปรับแผนการผลิตด้านการเกษตรให้ใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และการหาที่เสริม 7.ลำน้ำที่ปัจจุบันมีระดับต่ำกว่าตลิ่งก็ต้องระวังในเรื่องของตลิ่งทรุด ซึ่งในประเด็นดังกล่าวนายกรัฐมนตรีได้สั่งการเพิ่มเติมให้ป้องกันภัยแล้ง โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์หารือกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อกำหนดแอ๊กชั่นแพลน ในการเตรียมพร้อมไว้ล่วงหน้า

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีได้ฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูลำน้ำยมโดยเฉพาะการระบายไปสู่พื้นที่แก้มลิง และถนนที่ขวางทางเดินของน้ำ จะมีการแก้ไขอย่างไร โดยให้ลงไปจัดการให้มีผลสัมฤทธิ์ 

"อยากให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมหากจะต้องว่าจ้างประชาชนเป็นแรงงานในการดำเนินการ ก็ขอให้ดำเนินการเพื่อเม็ดเงินจะได้อยู่ในพื้นที่ และนายกรัฐมนตรีได้ฝากให้ดูแลโซนนิ่ง ส่งเสริมให้มีการปลูกพืชเศรษฐกิจ ฝากถึงหน่วยงานต่าง ๆ ในเรื่องการเก็บกักน้ำในช่วงภัยแล้ง" โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว