posttoday

หมอโกมาตรจี้ดูเร็กซ์รับผิดชอบโพสต์โฆษณาไม่เหมาะ

16 กันยายน 2557

แพทย์ส่งเมล์จี้ดูเร็กซ์รับผิดชอบโฆษณาไม่เหมาะสม สังคมออนไลน์วิจารณ์สนั่น ด้านดูเร็กซ์ลงข้อความขออภัยแล้ว

แพทย์ส่งเมล์จี้ดูเร็กซ์รับผิดชอบโฆษณาไม่เหมาะสม สังคมออนไลน์วิจารณ์สนั่น ด้านดูเร็กซ์ลงข้อความขออภัยแล้ว

วันที่16 ก.ย. จากกรณีที่เพจเฟชบุ๊ก Durex Thailand ของบริษัทผลิตถุงยางอนามัยดูเร็กซ์  ได้โพสต์ภาพโฆษณาด้วยข้อความที่ระบุว่า “28% ของผู้หญิงที่ขัดขืน แต่สุดท้ายก็ยอม” สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักในสังคมออนไลน์  ซึ่งผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจำนวนมากมองว่าโพสต์ในลักษณะนี้เป็นการส่งเสริมให้เกิดการข่มขืนผู้หญิงมากขึ้นใช่หรือไม่ ซึ่งในเวลาต่อมาทางเพจดังกล่าวก็ได้ลบข้อความข้างต้นออกไปแล้ว พร้อมกับเขียนระบุว่า

“เนื่องจากเกิดประเด็นความเข้าใจผิดจากข้อความ ที่ทางเพจได้โพสต์ขึ้นไป ทาง Durex Thailand ต้องขออภัยในความผิดพลาดเป็นอย่างสูง ทางเราขออนุญาตลบโพสต์ดังกล่าวออกไป เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดในข้อความดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น และทางบริษัทจะระมัดระวังข้อมูล การเลือกใช้คำในการสื่อสารให้ดียิ่งขึ้น ต้องขออภัยมา ณ ที่นี่อีกครั้ง”

กระนั้นชาวออนไลน์ส่วนหนึ่งก็มาแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์ขอโทษดังกล่าวอีกครั้ง พร้อมบอกว่ารู้สึกถึงความไม่จริงใจในการขอโทษที่ทาง ดูเร็กซ์ แสดงออกสักเท่าไหร่หนัก  โดยมองว่าทางเพจต้องการใช้วิธีการเงียบ เพื่อให้กระแสค่อยๆ หายไปเอง  ซึ่งควรจะแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมที่มากกว่านี้

ด้านนายแพทย์ โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข หนึ่งในผู้เรียกร้องความรับผิดชอบต่อสังคมโดยการส่งอีเมลร้องเรียนไปยังบริษัทดูเร็กซ์ เกี่ยวกับประเด็นนี้ กล่าวว่าก็ยังไม่ได้รับการตอบรับกลับมาจากบริษัทดูเร็กซ์ประเทศไทยแต่อย่างใด  ซึ่งตนเองมองว่าการกระทำแบบนี้เป็นการหยามเกียรติและบอกถึงทัศนะขององค์กรนี้ว่าสนับสนุนการล่วงละเมิดทางเพศในผู้หญิงอย่างมาก

ซึ่งสิ่งที่ทางองค์กรนี้ควรรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการ ออกมาขอโทษ ต่อสาธารณะชน และต่อผู้หญิงทุกคน ที่กระทำการดูหมิ่นผู้หญิงลงไป  และต้องแสดงความรับผิดชอบว่าต่อจากนี้ไป บริษัทจะไม่ทำความผิดซ้ำในลักษณะอย่างนี้อีก  เพราะไม่เช่นนั้นก็จะเกิดการทำผิดในลักษณะนี้ขึ้นมาอีกและก็จะได้แต่ขอโทษอีกครั้งเท่านั้น   พร้อมกับบริษัทจะต้องตรวจสอบไปว่าโพสต์ดังกล่าว เกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นความผิดพลาดจากอะไร  มีระบบการตรวจสอบเนื้อหาต่างๆ อย่างไร   สถิติที่ใช้อ้างอิงมาจากแหล่งใด เป็นต้น  

“มันเป็นการบอกถึงทัศนะของบริษัทนี้มีการละเมิดทางเพศของผู้หญิงว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะมันเหมือนบอกว่า28% ผู้หญิงเขาแกล้งขัดขืนไปอย่างนั้นแหละ  ซึ่งผมเข้าไปดูในหน้าบริษัท ก็โพสต์ทำนองนี้อยู่จำนวนหนึ่ง แต่ก็ไม่รุนแรงเด่นชัดหรือส่งเสริมการล่วงละเมิดเท่าโพสต์นี้

พอเข้าไปอ่านคอมเมนท์ในโพสต์นั้นมันมีคนแสดงความคิดเห็นแบบพูดล่วงละเมิดกันอย่างโจ่งครึ้ม เช่น พูดทำนองทำเป็นขัดขืนไปงั้นแหละ หรือเขียนไปถึงขั้นแสดงท่าทางของผู้หญิง  มันละเมิดความเป็นผู้หญิงไปมากครับ มองไปในอีกแง่หนึ่งนอกจากไม่สนใจความรับผิดชอบต่อสังคมแล้ว  ยังส่งเสริมให้มีการล่วงละเมิดด้วยวาจาอย่างน่ารังเกียจ  ไม่ทราบว่าเป็นนโยบายของบริษัท แม่ด้วยหรือป่าว

เรื่องสถิติ ไม่ได้มีการอ้างถึงที่มาของสถิติดังกล่าวเลย ซึ่งหากมีที่มาผมก็อยากจะทราบ วิธีศึกษาวิจัยของเขาด้วยว่า เขาไปสำรวจกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มไหน  ใช้คำพูดอะไร ด้วยการสอบถามแบบไหน มีความน่าเชื่อถือขนาดไหน  ซึ่งถ้ามันเป็นข้อมูลมีที่มาที่ไปในทางวิชาการ มันอาจจะใช้ในการเอามาอ้างอิงได้  แต่ถ้าไม่มีจะถือว่าเป็นการหลอกลวงก็ได้ เป็นการให้ข้อมูลเท็จ ที่มีเจตนาที่ดังใจทำให้เกิดการเข้าใจผิดพลาดได้เลย”

อย่างไรก็ตามนายแพทย์โกมาตรแนะให้สังคมอย่านิ่งเฉยต่อเรื่องนี้  โดยองค์กรสตรีควรจะฟ้องร้องเรื่องนี้ให้เป็นคดีตัวอย่างในการใช้ข้อมูลเท็จ เพื่อใช้ในการโฆษณาสินค้าของตัวเอง ลื่อควรใทวงถามความรับผิดชอบต่อบริษัท ทั้งนี้จากการที่เพจดังกล่าวโพสต์ขอโทษไปแล้ว 1 ครั้งนายแพทย์โกมาตรมองว่าทางบริษัท ได้ประโยชน์จากกระแสร้างความสนใจผลิตภัณฑ์นั้นอย่างมาก แต่การกระทำที่ก่อให้เกิดการดูถูกเหยียดหยามเพศแม่นั้น  การโพสต์ขอโทษเล็กๆ น้อยๆ  เป็นการสะท้อนความรับผิดชอบสังคมของบริษัท โดยควรจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้ชัดเจนกว่านี้