posttoday

มท.จัดเวิร์คช็อปชงเพิ่มอำนาจผู้ว่าฯ

05 กันยายน 2557

"ศูนย์ดำรงธรรม" เพิ่มอำนาจผู้ว่าฯ เสนอตั้งเป็นหน่วยงาน กำหนดบทบาทชัดเจน

 "ศูนย์ดำรงธรรม" เพิ่มอำนาจผู้ว่าฯ เสนอตั้งเป็นหน่วยงาน กำหนดบทบาทชัดเจน

เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ณ โรงเเรมมิราเคิล เเกรนด์ กรุงเทพฯ กระทรวงมหาดไทย (มท.) จัดประชุมผู้บริหารของกระทรวงฯและผู้ว่าราชการจังหวัด (ผวจ.) เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมีการนำเสนอผลการประชุมเชิงปฏิบัติการการดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด หลังจากให้ผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด แบ่งกลุ่มประชุมเชิงปฏิบัติการ ตามกลุ่มภูมิภาคเป็น 4 กลุ่ม คือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ และมีรองปลัดกระทรวงทั้ง 4 ท่าน ผู้ตรวจราชการมท.และอธิบดีกรมต่างๆ ในสังกัด เข้าร่วมประชุมในแต่ละกลุ่มด้วยเพื่อร่วมกันจัดทำแนวทางการขับเคลื่อนศูนย์ดำรงธรรมมิติใหม่

นายอภิชาต โตดิลกเวช ผู้ว่าฯ จ.แพร่ เป็นตัวแทนภาคเหนือ กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ประกาศของคสช. ฉบับที่ 96/2557 ผวจ.ภาคเหนือมีความเห็นร่วมกันว่า ประกาศฉบับนี้ต้องการให้ผวจ.มีอำนาจเพิ่มขึ้น ต้องการให้ศูนย์ดำรงธรรมเป็นศูนย์สั่งการเบ็ดเสร็จ ในการจัดการแก้ไขปัญหาให้ได้ และเป็นการพยายามทำให้การแก้ปัญหาม็อบจำกัดอยู่เฉพาะพื้นที่นั้นๆ โดยเฉพาะปัญหาพืชผลเกษตร ส่วนเรื่องการจัดโครงสร้างบริหารจัดการมีข้อเสนอว่า ควรจัดกลุ่มงานดำรงธรรมให้ขึ้นกับสำนักงานจังหวัด การที่ศูนย์ดำรงธรรมเป็นด่านแรกในการับเรื่องราวทั้งหมดของทุกกระทรวง จะต้องมีการรับ ส่ง ติดตามช่วยเหลือ และรายงานส่วนกลาง

นอกจากนั้นในการจัดโครงสร้างการบริหาร ควรมีการแบ่งลักษณะงานเป็น 2 ประเภท คือ งานปกติ ได้แก่ การรับเรื่องราวร้องทุกข์ การให้คำปรึกษา บริการข้อมูล ควรมีบอร์ดบริหารและกำหนดเป็นคณะทำงาน 4 กลุ่ม อีกประเภทหนึ่งคือ งานกรณีพิเศษ ขึ้นอยู่กับบอร์ดบริหารพิจารณาเป็นกรณี เช่น น้ำท่วม ภัยพิบัติ ยาเสพติด เป็นต้น นอกจากนี้ ศูนย์ดำรงธรรมควรลงลึกถึงอำเภอและองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) และมีชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วเพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วน ต้องกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานให้แล้วเสร็จ เช่น เรื่องด่วนที่สุด 3 วัน ด่วน 5 วัน รอได้ 7 วัน เป็นต้น

นายกำธร ถาวรสถิตย์ ผวจ.ขอนแก่น ในฐานะตัวแทนผู้ว่าฯ กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ประกาศคสช.ฉบับที่ 96 เทียบเท่ากับพระราชบัญญัติ ซึ่งเมื่อดูจากข้อ 5 ในประกาศจะพบว่ามีจุดประสงค์เพื่อให้จังหวัดมีเอกภาพ ปัญหา อุปสรรคที่พบจากการตั้งศูนย์ดำรงธรรมคือ การกำหนดอำนาจหน้าที่ ขอบเขตของอำนาจยังไม่ชัดเจน จึงควรกำหนดโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ให้ชัด ควรมีระบบการจัดสรรงบประมาณอย่างเป็นรูปธรรม ขยายศูนย์ดำรงธรรมสู่อำเภอ เสนอให้ออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมให้เป็นหน่วยงานถาวร ควรมีระบบให้ความดีความชอบแก่บุคลากรที่ทำงานบรรลุผล พัฒนาระบบการส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และควรจัดระบบหน่วยรถเข้าแก้ปัญหาในพื้นที่อย่างเร่งด่วน

นายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ ผู้ว่าฯ จ.นครศรีธรรมราช ตัวแทนผู้ว่าฯ กลุ่มจังหวัดภาคใต้ กล่าวว่า ควรมีศูนย์ดำรงธรรมภาค เพื่อการแก้ไขปัญหาที่มีความเชื่อมโยงในพื้นที่หลายจังหวัด เช่น ปัญหายางพารา มีการแบ่งโครงสร้างที่ชัดเจน อาทิ ฝ่ายรับเรื่องและวิเคราะห์ดำเนินงาน ฝ่านบริการ ฝ่ายเคลื่อนที่เร็ว ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ควรมีระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนท์ระหว่างจังหวัดกับอำเภอ ใช้เอสเอ็มเอสแจ้งข้อความการบริการให้ผู้รับหรือผู้ร้องได้ทราบ

นายสุรพล แสวงศักดิ์ ผู้ว่าฯ จ.สิงห์บุรี ตัวแทนผูว่ากลุ่ม จ.ภาคกลาง กล่าวว่า เพิ่มอัตรากำลังให้แก่ศูนย์ดำรงธรรม เน้นคุณภาพบุคลากร และในการดำเนินงานไม่ควรใช้เวลาเกิน 15 วันทำการ นอกจากนี้ จ.สิงห์บุรีมีการทำแอพพลิเคชั่นมาใช้ จากเดิมที่ใช้กับเรื่องการบริหารจัดการน้ำก็จะนำมาใช้กับทุกเรื่อง ที่ผ่านมามีผู้มาใช้บริการเพิ่มขึ้นจากเดิม 800% เพราะประชาชนเห็นว่ามันตอบโจทย์ได้ แก้ปัญหาได้ แต่ก็ยังมีประชาชนบางคนไม่เข้าใจ บางครั้งก็เอาเรื่องมโนสาเร่มายื่น ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถแก้ไขได้ตั้งแต่ระดับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านแล้ว